ทรงวุฒิ จุลละนันท์  Citizen Reporter of The Isaan Record
หมายเหตุ: สารคดีชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges

 

ถ้าคุณเห็นรถกระบะกำลังขนขวดพลาสติก เศษเหล็กหรือกองกระดาษขนาดใหญ่ วิ่งอยู่บนถนนบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ หรือจังหวัดใกล้เคียง อนุมานได้เลยว่า พวกเขากำลังมุ่งหน้าไปหมู่บ้านนาแก้ว แหล่งค้าของเก่าที่อาจเรียกได้ว่า “ใหญ่ที่สุดในอีสานใต้”

บ้านนาแก้ว ตั้งอยู่ในตำบลบ้านกอก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หากขับรถออกจากตัวเมืองอุบลฯ ตรงยาวราวหนึ่งชั่วโมงตามถนนแจ้งสนิท

ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ชุมชนราวสามกิโลเมตร ถูกขนาบด้วยทุ่งนาและร้านรับซื้อของเก่าขนาดเล็กไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ ร้านเหล่านี้รับซื้อของเก่า “ทุกประเภท” ตั้งแต่ขวดพลาสติก ท่อน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องยนต์ ไปจนถึง เศษเหล็ก ขวดแก้ว และกระดาษ

คนในชุมชนให้ข้อมูลว่า เดิมอาชีพหลักของบ้านนาแก้ว คือ การทำนาและเกษตรกรรม แต่ย้อนไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว เริ่มมีประกอบการรายเล็กนำร่องด้วยใช้จักรยานปั่นหาซื้อนุ่นเก่า เศษกล่องเศษกระดาษ และของเก่าอื่นๆ เพื่อมาจำแนกก่อนขายให้กับโรงงานในตัวเมืองอุบลฯ 

จากเคยทำนาผันเป็นเถ้าแก่

เมื่อธุรกิจสามารถทำกำไรได้มากขึ้น ต่อมาจึงพัฒนาจากโรงงานเล็กเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ส่งขายโดยตรงกับโรงงานในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้คนในชุมชนเริ่มมองเห็นช่องทาง และทำต่อกันมาจนกลายเป็นอาชีพหลักของชุมชนในปัจจุบัน 

“แต่ก่อนทำแค่ 1-2 คน  มีร้านใหญ่อยู่สองร้าน พอคนอื่นเห็นก็เริ่มทำ บางบ้านก็มีรถไปรับซื้อจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด แต่ส่วนมากก็มีคนมาขายที่นี่ มีมาจากทุกที่ ทั้งจากอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร บางทีเราก็เอารถหกล้อไปใส่มา ได้มาครั้งหนึ่งก็ 4-5 ตัน” หนึ่งในเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าในบ้านนาแก้วที่ไม่สะดวกเปิดเผยชื่อจริงให้ข้อมูล

เจ้าของร้านรับซื้อของเก่าเล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพค้าขายและทำร้านอาหารเล็กๆ ในชุมชนคู่ไปกับการทำนา ก่อนจะหันมารับจ้างในร้านรับซื้อของเก่าและตัดสินใจทำร้านของตนเองในที่สุด ปัจจุบันเธอมีลูกจ้างห้าคน และทำเงินได้ต่อเดือนมากกว่าหนึ่งแสนบาท

“มาทำอันนี้มีรายได้ทุกเดือน แต่ทำนาได้ปีละครั้ง ตอนนี้ก็จ้างคนมาช่วยชั่งของ รื้อของ เพราะบางทีซื้ออลูมีเนียมติดเหล็ก ก็ต้องรื้อทำให้สะอาด ส่งขายที่สมุทรปราการ กรุงเทพฯ นครปฐม แล้วแต่ประเภท แล้วแต่ช่วง มีทั้งเศษกระป๋อง อลูมีเนียมบาง อลูมิเนียมหนา รับไปเขาก็เอาไปหลอม”เธอเล่า 


เครื่องจักรที่ใช้สำหรับอัดกระป๋องให้ง่ายสำหรับการเคลื่อนย้าย

ค้าของเก่าเสริมเศรษฐกิจชุมชน

การค้าของเก่าช่วยเสริมเศรษกิจและสร้างงานให้กับคนในชุมชน ลูกจ้างส่วนใหญ่จึงเป็นคนในชุมชน ซึ่งได้รับค่าแรงอย่างต่ำวันละ 400-500 บาท หรืออาจมากกว่านั้นตามประสบการณ์ ควบคู่ไปกับการทำนา ขณะเดียวกันก็จ้างงานเยาวชนให้มีกิจกรรมและรายได้เสริมช่วงปิดเทอมอีกด้วย 

ระหว่างที่ทีมงานพูดคุยกับเอ ก็เห็นหนึ่งในลูกจ้างทำงานอย่างตั้งใจ แม้มือจะเปื้อนคราบน้ำมันเครื่อง แต่เขากลับทำไปพร้อมกับคลอเพลงและสีหน้าที่สดใส

เขาเล่าว่า อาชีพนี้ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนออกไปทำงานต่างถิ่น ได้อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัว

“เลิกงานประมาณ 5 โมงก็ขับรถมอเตอร์ไซต์กลับบ้าน แต่ก่อนผมก็ทำนา แต่พอชุมชนเปลี่ยนมารับซื้อของเก่ากันเยอะ ผมก็มาทำงานนี้ด้วย ได้เงินทุกวันแต่ละวันก็เข้างานตอน 8 โมง ผมทำหน้าที่รื้อของหรือถ้ามีคนนำของมาขายก็ก็เอาไปชั่ง จะเอาของไปขายก็ขนขึ้นรถแล้วก็ขนลงไปขาย ผมเป็นคนบ้านนาแก้วอยู่มาตั้งแต่เกิด อยู่แถวนี้ก็อยู่กับพ่อแม่ ครอบครัว”เขากล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม


ลูกจ้างในร้านรับซื้อของเก่า จ.อุบลราชธานี กำลังคัดแยกขยะ

“ขยะ” สำหรับคนในชุมชนนาแก้ว จึงกลายเป็นทองคำที่สร้างอาชีพ นำรายได้เข้าสู่ชุมชน อาชีพรับซื้อของเก่าในชุมชนจึงเติบโตขึ้นทุกปี 

ธุรกิจรับซื้อของเก่าไม่เพียงเติบโตที่บ้านนาแก้วเท่านั้น ปัจจุบันมีกระแสการแยกและรีไซเคิลขยะมากขึ้นทั่วประเทศ เช่นเดียวกับมูลค่าธุรกิจขยะรีไซเคิลที่เติบโตขึ้น ทำให้เมื่อปี 2564 มีการจัดตั้งธุรกิจรีไซเคิลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 18.96%

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป อธิบายว่า การขยายตัวของธุรกิจรับซื้อของเก่า สามารถสะท้อนได้ได้สองอย่างหลักๆ คือ ขยะในประเทศมีจำนวนมากขึ้นและคนตกงานมากขึ้น

“อาชีพนี้มันทำง่าย ต้นทุนในการประกอบอาชีพมันต่ำหรืออาจเรียกได้ว่า ถ้าไม่ต้องใช้เงินเลย แต่มันเป็นอาชีพรายวัน ก็อาจสื่อได้ว่ามันมีคนตกงานมากขึ้น หรืออีกทางคือ ปริมาณขยะมีมากขึ้น คนก็เห็นช่องทางนี้ ทำให้มีการรับซื้อของเก่ามากขึ้น”

หลังโควิดปริมาณขยะลดลง

กรมควบคุมมลพิษพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อปี 2558 มีปริมาณขยะทั้งหมด 7.18 ล้านตัน ปี ‘60 เพิ่มขึ้นเป็น 7.31 ล้านตัน และเมื่อปี ‘61 เป็น 7.78 ล้านตัน ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ 6.17 ล้านตัน เมื่อปี 2564 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวลดลง รวมถึงการปิดประเทศและการจำกัดการเดินทางในประเทศ

เปรม อธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมอาชีพรับซื้อของเก่าเป็นอาชีพประจำถิ่น ขณะที่ร้านรับซื้อจะอยู่ในเขตเมืองกับเขตอุตสาหกรรม แต่เพราะจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเติบโตขึ้น ก่อนขยะเหล่านี้จะถูกนำส่งขายในโรงงานที่กระจายอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกตามประเภทของขยะ 

เมื่ออาชีพแยกขยะสร้างฝุ่น-ควัน

แม้ขยะจะช่วยสร้างอาชีพและพัฒนามาสู่ชุมชน แต่ก็นำปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยคนในชุมชนเล่าว่า มีมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน เป็นต้น ซึ่งมาจากการแยกขยะ โดยขยะบางส่วนที่ไม่สามารถทำลายก็ต้องถูกนำไปฝังกลบ 

กรมควบคุมมลพิษระบุว่า เมื่อปี 2564 ในภาคอีสานมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องถึง 827 แห่ง ถูกต้องเพียง 35 แห่ง

ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่า ระหว่างปี 2559 - 2561 พบการนำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียนเติบโตถึงร้อยละ 171 จาก 836,529 ตันเป็น 2,265,962 ตัน เทียบเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตประมาณ 423,544 ใบ

ข้อมูลจากเว็บไซต์มูลนิธิบูรณะนิเวศระบุว่า เมื่อปี 2561 ไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่นสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 173,371 ตัน ฮ่องกง 99,932 ตัน และสหรัฐอเมริกา 84,462 ตัน 

กังวลต่างชาติขนขยะเข้าไทย 

ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศที่ให้ข้อมูลว่า ในภาคอีสาน ผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มทำอาชีพคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2548-2549 จากมีเพียงรายเดียวก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นอาชีพเสริมจากฤดูกาลเพาะปลูก

เธอบอกอีกว่า จากนั้นการรับซื้อของเก่าภายในประเทศก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ กระทั่งมีคนแนะช่องทางการนำเข้าขยะจากต่างประเทศผ่านท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

“ความจริงมีกฎหมายห้ามนำเข้าขยะอยู่แล้วและมีการบังคับไม่ให้นำเข้าขยะจากต่างประเทศอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีการลักลอบอยู่ ซึ่งกังวลว่า จะมีการนำเข้ามาเรื่อยๆ จึงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลว่า ไม่ควรปล่อยให้มีการนำเข้าขยะพลาสติก ขยะอิเล็คทรอนิคส์ และขยะอุตสาหกรรมอันตรายเข้ามาประเทศไทย เพราะจะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว

แม้คนในหมู่บ้านนาแก้วและหมู่บ้านอื่นๆ ใกล้เคียงจะเปลี่ยนสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน พร้อมทั้งทำให้สิ่งที่คนมองว่า เป็น “ภาระ” ให้เป็น “ทองคำ” แต่พวกเขาก็เห็นตรงกันว่า แม้จะมีความเจริญแต่ก็ต้องมีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่จำต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโรงงาน ผู้คนในชุมชน ไปจนถึงภาครัฐ

เกี่ยวกับผู้เขียน

เนื้อหาล่าสุด