กฤติมา คลังมนตรี Citizen Reporter of The Isaan Record
หมายเหตุ : สารคดีชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges
ผืนดินอีสานไม่ได้แล้ง แต่เหือดแห้ง เพราะไร้แรงงาน นับถอยหลังภูมิภาค แม้ว่า “ดอกจานจะบานสะพรั่งในหน้าแล้ง” ก็ไม่อาจเบ่งบานในท้องที่ตัวเองได้ เฉกเช่นกับการที่ผู้คนต่างเริ่มผลัดถิ่นจากบ้านไปอยู่เมืองใหญ่ เมืองที่มองเห็นโอกาสได้มากกว่า…
“เกาหลีใต้” คือ หมุดหมายที่คนอีสานเลือกไปทำงานมากที่สุดในประเทศไทยผ่านระบบ EPS (Employment Permit System) และเป็นประเทศเป้าหมายของเหล่าบรรดาถูกเรียกว่า “ผีน้อย” คำที่ถูกใช้เพื่อเรียกแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตในการทำงานอย่างถูกกฎหมายในเกาหลีใต้ พวกเขาเลือกจะเสี่ยงโชคด้วยการลักลอบไปทำงานแบบไม่มีวีซ่า
ข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ระบุว่า มีผู้อพยพชาวไทยเข้าประเทศเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมายข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 395,068 คน ข้อมูลแบบถูกกฎหมายเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 มีเพียง 42,538 คน
จากลูกชาวนาสู่เกษตรกรเมืองโสม
“สา” อายุ 42 ปี ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง เป็นหนึ่งในสามแสนคนที่อาศัยอยู่แบบผิดกฎหมาย เธอเดิมพันชีวิตด้วยการใช้เงินสองแสนบาทเป็นการเดินทางเพื่อไปงานทำในเกาหลีเพื่อปลดหนี้ให้กับครอบครัว
สาเป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เคยประกอบอาชีพค้าขาย เธออยู่ในสถานะแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตการจ้างงาน แม้คิดจะขอวีซ่าทำงาน แต่ก็ทำได้ค่อนข้างยาก
สา เล่าว่า ทำงานจนไม่มีเวลาทำเอกสาร เพราะไม่มีวันหยุด โดยเริ่มงานแรกในเกาหลีจากทำงานในฟาร์มหมูแถบภาคกลางของเกาหลีมากว่า 6 ปี จากนั้นจึงออกมาทำงานด้วยการเก็บหัวไชเท้าใส่กล่องกว่า 3 ปี ต่อมาก็ออกมาทำพาร์ทไทม์ที่ร้านอาหารเกาหลีประมาณ 1 ปี
“ทำงานที่เกาหลีอย่างไม่ทันจะรู้ตัวก็อยู่ล่วงเลยมาเป็นเวลา 10 ปี ตอนแรกที่มาก็เพราะต้องการหาเงินเลี้ยงครอบครัว ค้าขายมันก็แค่พอกินพอใช้ แต่ไม่มีไว้เก็บออม ยิ่งมีลูกชาย 2 คนก็ยิ่งต้องทำอะไรซักอย่าง”สา เล่าสาเหตุของการตัดสินใจมาเกาหลี
เธอเล่าอีกว่า ตอนนั้นทางออกเดียวที่คิดได้ คือ เกาหลีใต้ เพราะช่วงนั้นเป็นประเทศที่น่าจับตามองในเรื่องการเข้าไปทำงานของแรงงานนอกระบบ ตอนนั้นเธอใช้วิธีการจ้างนายหน้าพาเข้าประเทศ ด้วยเงินทั้งหมดประมาณเกือบสองแสนบาท
“ตอนอยู่ไทยเป็นหนี้ อีกอย่าง คือ เราต้องส่งเสียลูก แล้วต้องดูแลพ่อแม่อีก เรามาทำแบบนี้ก็แค่อยากให้เขาได้กินดีอยู่ดี เราต้องใช้หนี้ทั้งของพ่อแม่และของตัวเอง ใครมันจะมาหาให้เรา หนี้ตั้งหลายแสนบาท ทั้งนี้หนี้ธนาคารที่ครอบครัวกู้มาทำนา เราก็หมุนเงินเนาะ ชาวนามันจะได้อะไรมากมายล่ะ เพราะได้มาก็ต้องกู้ต่อ”เธอเล่าชะตากรรมของการเป็นลูกชาวนาที่มีภาระหนี้สินเป็นผลตอบแทน
รายได้ช่วงที่มาแรกๆของสาอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านวอน (ประมาณ 30,000 บาท) มีบ้านพักอาศัยอยู่ในฟาร์มที่ทำงาน มีข้าวให้กิน ค่าใช้จ่ายของใช้ นายจ้างคนเกาหลีจัดการให้
“แต่เราตอนไปอยู่ใหม่ๆ ก็ใช้ของเกาหลีไม่เป็น ก็ต้องซื้อของไทยใช้เอง กินของไทย แรกๆ ไม่รู้ว่า จะหาซื้อที่ไหน พออยู่ไปเรื่อยๆ รู้จักคนไทย รถไทย ที่เขามาขายเราก็ซื้อ”เธอเล่าประสบการณ์
งานพาร์ทไทม์ค่าแรงวันละ 1,400 บาท
ส่วนงานพาร์ทไทม์เธอได้ค่าแรงวันละ 50,000 วอน (1,300 -,1400 บาท) อยู่ในฟาร์มหมู ซึ่งในสายตาเธอฟาร์มแห่งนั้นค่อนข้างไฮเทค โดยได้รับผิดชอบงานทำงานด้านเอกสาร ดูแลหมู ทั้งการคลอดและผสมพันธุ์
“พอทำงานในฟาร์ม เจ้านายจะเลี้ยงดูปูเสื่อค่อนข้างดี แต่พอทำงานพาร์ทไทม์เขาก็จ่ายเงินรายวันบ้าง ทำสิบวันจ่ายสามวันบ้าง นอกนั้นก็ค้างๆ ไว้แล้วก็จ่ายรอบหน้า สามวัน ห้าวัน จ่ายครบแต่จะจ่ายช้าบ้าง”
“ส่วนร้านอาหารทำรายเดือน มันเลิกไม่เป็นเวลา มีความจู้จี้จิกจิก อย่างช่วงเทศกาล คนค่อนข้างเยอะ จนไม่มีเวลาที่จะกินข้าว กินน้ำเลย เวลาสบายก็สบายจริงๆจนสามารถนั่ง นอนได้”สา กล่าว
แม้ว่ารายได้ที่สาบอกว่า เป็นที่น่าพึงพอใจ เมื่อแปลงเป็นอัตราเงินไทย แต่ก็แลกมาด้วยความน่าหวาดระแวง เนื่องจากสถานะหลบๆ ซ่อนๆ ของการเป็นแรงงานนอกระบบ การหลบการตรวจจับของเจ้าหน้าที่จึงเป็นภารกิจใหญ่
“ตอนทำงานร้านอาหารอยู่ริมทะเลตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มาตรวจบ่อย แต่เถ้าแก่จะมีสายของเขาในแต่ละพื้นที่ ถ้าเขารู้ว่า ตม.จะลงตรงไหนเขาจะโทรบอกกันและเถ้าแก่จะพาไปหลบ มีสายใน ตม.สายของ ตม.ก็อยู่กับพวกเรา บางที ตม.ก็มีสายจับ รู้ว่าใครมาแบบผิดกฎหมาย เดินๆ แถวริมทะเลก็จับได้ แล้วส่งกลับประเทศ”เธอเล่าประสบการณ์ด้วยน้ำเสียงหวั่นวิตก
“ทำงานที่ร้านอาหาร เวลานอนตอนกลางคืนก็ระแวงว่า ตม.จะลงตรวจทำให้ต้องเตรียมตัวตลอดเวลา แต่พอทำงานอยู่ในฟาร์มเราปลอดภัย 100% แต่ถ้ามีคนแจ้งเราก็อยู่ลำบาก ช่วงที่ทำงานพาร์ทไทม์ฟาร์มข้างๆ มีตม.ลงแต่ไม่มีหมายค้นก็ทำให้เข้าไม่ได้”สาเล่า
แรงงานหญิงไทยในสายตาชาวเกาหลี
การเป็นแรงงานหญิงทำให้เธอถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งทางวาจาและสายตา แม้จะไม่ทางคำพูดและสายตาบ้าง เธอตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะเพราะเราเป็นต่างชาติจึงเกิดเหตุการณ์ขึ้น แม้จะไม่ได้เกิดในทุกสถานที่ทำงานก็ตาม
“ในฐานะเป็นแรงงานผู้หญิง ที่มาทำงานในร้านอาหารจะถูกมองว่า ขายตัวไปด้วย ก็จะโดนลวนลามทางคำพูดบ้าง เช่น “ไปนอนกับกูไหม” เราก็ด่ากลับไปเขาก็ไม่มายุ่งกับเรา”เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงแค้นเคือง
ช่วงที่สาทำงานรับจ้างเก็บหัวไชเท้าใส่กล่อง จะต้องเจอกับคนขับรถสิบล้อที่มารอรับกล่องสินค้าจากเธอทุกวัน และเธอเคยถูกลวนลามถึงเนื้อถึงตัว คือ การถูกจับก้น บั้นท้าย
“มีอยู่ครั้งหนึ่งเราเคยถูกจับหน้าอก เราก็ต่อยสวนไป เพราะโกรธและตกใจมาก เขาอ้างว่า มันเป็นธรรมเนียมของคนเกาหลี เป็นเรื่องปกติ แค่แกล้งเล่นหยอกเล่น วันต่อมาเขาก็มายกมือไหว้ขอโทษ เขาอ้างว่า เห็นว่าผู้หญิงไทยเป็นแบบนั้นหมด เลยคิดว่า จับนิดจับหน่อยคงไม่เป็นอะไร” สากล่าว
การปรับตัว
การมาทำงานของสาไม่ได้มาผ่านระบบการสอบวัดระดับภาษาแรงงานของ EPS ดังนั้นอุปสรรคสำคัญคือ “เรื่องภาษา”
“ไม่ได้เรียนภาษาเกาหลีแต่แรก อาศัยเรียนแบบครูพักลักจำ ตอนทำงานเราจะมีปากกาหนึ่งแท่งไว้จด แต่คนเกาหลีเขาดีตรงที่พวกเขาพยายามสื่อสาร ทั้งคำพูด ทั้งภาษามือ แล้วนายจ้างจะบอกว่า ให้จำเฉพาะในหน้างานของตัวเอง อย่าพึ่งไปจำอย่างอื่น ในฟาร์มก็จะมีกระดาษเขียนแปะศัพท์ไว้ทุกที่ เราก็อาศัยการจดจำเท่านั้น และพยายามฝึกเขียนตามเขา”เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เธอเอาตัวรอดได้
อยากกลับบ้านไหม?
“ไม่เคยคิดอยากกลับบ้าน แม้จะปรับตัวยากในช่วงแรกๆ ทั้งเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย สภาพอากาศที่หนึ่งวันมีสี่ฤดู เรื่องงานเราทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว มาแรกๆ มีโดนตำหนิ ก็ยอมรับ แต่สักพักสองสามเดือนเริ่มอยู่ตัว ก็คิดสู้ตลอดไม่เคยคิดถอยกลับ”เธอเล่าถึงความมุ่งมั่น
สายอมรับด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ที่เกาหลีเจริญกว่ามาก ทำให้เธอสามารถลืมตาอ้าปากได้ และด้วยหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญในการอยู่ต่อคือเพราะต้องการส่งเสียให้ลูกเรียนจนจบ
“ถึงจะไม่มีเงินร้อยล้านพันล้าน แต่เราก็สามารถที่จะส่งเสียที่บ้านได้ไม่ให้ลำบาก แต่ถ้าอยู่บ้าน ถามว่า เราทำอะไรได้บ้างตอนนี้ ค้าขายก็ยาก ขายข้าวปลูกข้าวก็ยาก ไม่อยากลงทุน พอคิดว่า ต้องกลับบ้าน ก็มานั่งถามกันว่า กลับไปจะทำไรกิน”
อาหารการกิน
ในชีวิตประจำวันของสาไม่ค่อยได้กินอาหารเกาหลีมากนัก ส่วนใหญ่เธอจะกินอาหารไทย อาหารอีสาน การสั่งสินค้าค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะมีร้านค้าไทยหรือเพจเฟซบุ๊คชุมชนไทยที่หาง่าย หรือสามารถซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเองบ้าง
“อาหารเกาหลีมีบางอย่างที่อร่อยที่เราชอบ อย่างพวก ชับเช หรือซุปเครื่องใน ต้มกระดูก แต่อาหารในชีวิตประจำวันเป็นอาหารอีสาน แถมหาง่ายกว่าบ้านเรา อย่างไข่มดแดง อยากกินก็ได้กิน เพราะหาซื้อง่าย เยอะแยะมีทุกอย่าง มีหนู มีของป่า มีงู เขาเอามาขาย”
“กินประจำก็คือป่น (น้ำพริกปลา) ส้มตำกับหมูย่าง ปลาร้าบอง น้ำพริกปลาร้า ไม่ใช่แค่มีครบ แต่มีเกิน เพราะบางอย่างบ้านเราหาไม่ได้ แต่ที่นี่หาได้ แค่เรามีเงินทุกวัน”
“อาหารเกาหลีที่กินได้จริงๆ คือ จ๊กพา จะเหมือนผักดองบ้านเรา พวกผักแป้น (กุยช่าย)”
ฟังลูกทุ่งเพื่อคลายความคิดถึงบ้าน
ขณะที่อยู่เกาหลีสาหล่อเลี้ยงร่างกายตนเองด้วยอาหารอีสาน และหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณด้วยการฟังเพลงลูกทุ่งของมนต์แคน แก่นคูณ เพื่อให้คลายเหงาและลดการคิดถึงบ้าน
“ฟังมนต์แคนกับต่าย อรทัย ตอนนี้ชอบที่สุด คือ บ่าววี เพลงหัวใจนักสู้ ฟังก็เพลินดีตอนเลิกงาน ตอนทำอาหารก็ร้องคลอตาม ปล่อยอารมณ์ผ่อนคลาย แต่คิดถึงบ้านก็มีนะ ฟังไปน้ำตาไหลไป เพราะมาอยู่ที่นี่ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็กลับไปดูแลไม่ได้”เธอเล่าช่วงเวลาของการคลายความคิดถึงบ้าน
ความเหมือนที่แตกต่างภาษาอีสาน-เกาหลี
“ชีวิตประจำวันก็พูดอีสานกับญาติในฟาร์ม อยู่กับนายจ้างก็พูดเกาหลีตอบสวนกันไป แต่ภาษาเกาหลีเหมือนภาษาอีสานบ้านเราเลย เช่น เกาหลีพูด ต๊กกัทเท (แปลว่า เหมือนกัน ในภาษาเกาหลี) เราก็จะตอบเขาไปว่า ตกคันแทติ? (ตกคูนา) ตกคันแทเด้อ ตกคันนาเด้อ”
เธอบอกอีกว่า สำเนียงเกาหลีกับสำเนียงอีสานคล้ายกันมาก ทำให้นำมาพูดแซวกันในที่ทำงาน เรียกเสียงเฮฮาได้ดี
เธอยกตัวอย่างตอนนายจ้างชมแรงงานว่า “ชาราแน” (잘하네) แปลว่า “ทำได้ดีนะเนี้ย เก่งจัง” ก็จะทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเขาพูดว่า “สาระแน”ก็พูดหยอกๆ กันว่า โอ้ย อยู่ๆ ก็มาด่ากันว่า สาระแนเนาะ”เธอพูดไปพร้อมกับหัวเราะร่วน
จากพนักงานขายประกันสู่ล่ามเกาหลี
ส่วน มน ซึ่งไม่สะดวกที่จะเปิดเผยชื่อ เป็นอดีตพนักงานบริษัทประกันภัย ในไทย เธอเดินทางไปเกาหลีในฐานะนักท่องเที่ยว แรกทีเดียวไม่ได้ตั้งใจมาทำงาน แต่มีลูกพี่ลูกน้องชักชวนทำให้ปัจจุบันเธอทำงานเป็นล่ามให้แรงงานไทยในเกาหลี
“ตอนปี 2008 เขาลองให้ทำโรงงานยีนส์ มีต่างชาติเยอะ ไม่มีวีซ่า เงินเดือน 700,000 วอน (ประมาณ 18,700 บาท) อยู่ไปได้สามเดือน เจอสามีเลยตัดสินใจอยู่ต่อ รอทำวีซ่าให้ ก็อยู่ยาว อยู่เพราะความรัก”เธอพูดพร้อมกับหัวเราะชอบใจเพื่อปิดกลบความเขินอาย
มนเล่าว่า เคยเป็นล่ามให้หมอนวด พวกเขาจะมาแบบท่องเที่ยวปกติ บางคนมีวีซ่าบางคนไม่มี
“ส่วนมากมีหนี้สินติดตัว ถ้านับร้อยคนเกือบทุกคนมีหนี้หมด ถ้าไม่มีหนี้ก็อยู่หากินลำบาก ค่าแรงไม่คุ้มกับที่ทำ หรือไม่ก็ตามญาติมาจากการบอกต่อ”มนเล่าจากประสบการณ์ที่ประสบพบเจอ
จากการคลุกคลีกับเพื่อนแรงงานคนที่มาตามระบบของกรมจัดหางานและแอบลักลอบเข้ามานั้น มนบอกว่า งานประเภทเกษตร ส่วนมากจะเป็นรูปแบบของงานเหมา เริ่มงานเวลา 6 โมงเช้า และเลิกงานประมาณ 14.00 -15.00 น. หากทำงานเสร็จเร็วก็จะเลิกเร็ว ถ้าเป็นแรงงานผู้หญิงจะได้ค่าแรงวันละ 130,000 วอน (3,000-4,000 บาท) ถ้าเป็นผู้ชายที่จะต้องใช้แรงงานจะได้วันละ 150,000 วอน (4,000 บาท)
“การกดขี่ไม่ค่อยมีแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเบี้ยวค่าจ้างกัน เพราะเขาต้องการแรงงานค่อนข้างมาก อีกอย่างคนที่มาแบบผิดกฎหมายสามารถย้ายงานได้ถ้านายจ้างมีปัญหา จะย้ายง่ายกว่าคนถูกกฎหมายเพราะต้องทำเรื่องเยอะมาก”ล่ามสาวเล่าจากประสบการณ์ตรง
ด้วยความที่ต้องพบปะผู้คนเป็นจำนวนมากทำให้มนเล่าได้อย่างเห็นภาพว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการกลับบ้าน โดยเธอยกอย่าง อาชีพหมอนวดที่เดือนหนึ่งรายได้แสนกว่าบาท
“ถ้ามีหลับนอนกับลูกค้าก็หลายล้านวอนต่อคืน (หลักหมื่นบาทขึ้นไปต่อคืน) เพราะคนเกาหลีให้ทิปเยอะ”เธอเล่าสิ่งที่ทำให้คนเกาหลีบางส่วนมองว่า แรงงานหญิงไทยส่วนหนึ่งไปทำอาชีพไซต์ไลน์
ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 แพร่ระบาด มนเล่าว่า จะมีวีซ่าหรือไม่มีก็สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยาได้ แต่ถ้าไม่มีวีซ่าจะได้ประมาณ 4 แสนวอน ส่วนกระบวนการในการลงทะเบียนไม่ยุ่งยาก สามารถลงที่เขตได้ และจะมีเลขประจำตัวมาก็ให้รับวัคซีนฟรี
“เขามีศูนย์ช่วยเหลือให้คนที่ไม่มีวีซ่า ให้ทำประกันสุขภาพ แต่ถ้าไม่มีวีซ่าการเข้ารักษาในโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเท่าตัว เมื่อเทียบกับคนมีวีซ่า”มนเล่า
การปรับตัวกับวัฒนธรรม “ปัลลี ปัลลี”
คนไทยบางส่วนถือสำนวนที่ว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” หรือคำพูดติดปากคือ “ใจเย็นๆ สบายๆ” แต่สำหรับคนเกาหลีนั้น คำว่า “เร็วๆ” คือ สิ่งที่สำคัญ
“คนเกาหลีทำอะไรจะทำเร็ว เขาจะคอยบอกว่า ปัลลี ปัลลี แปลว่า เร็วๆ เร็วๆ นะ อย่าชักช้า ทุกอย่างต้องเร็วและเรียบร้อยทำให้แรงงานไทยที่นี่ต้องทำงานเร็ว”เป็นประสบการณ์ที่มนต้องแปลให้คนไทยฟังในฐานะล่าม
กระแส K-Wave เกิดหลังยุค 2000
กระแสเกาหลีเริ่มบูมมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งกระแสเพลง อาหาร วัฒนธรรม แต่มีอย่างหนึ่งที่เกาหลีนำเข้าจากไทย คือ แรงงาน
ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การออกไปทำงานต่างประเทศ คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง ในช่วงยุค 90 นิยมไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ในขณะที่การไปประเทศเกาหลีนั้นยังไม่มากนัก เนื่องจากขณะนั้นอัตราการเกิดของคนเกาหลียังสูง และแรงงานเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งยังไม่มีนโยบายเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติมากนัก แต่หลังจากปี 2000 กระแสฮันรยูหรือเคเวฟ มีอิทธิพลและแลกเปลี่ยนกับไทยเยอะขึ้นทำให้ผลิตภัณฑ์เกาหลีเข้ามาในประเทศเยอะ รวมกับแรงงานในอุตสาหกรรมในหลายสาขาประสบกับภาวะที่ไม่มีแรงงานเพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานที่ลำบาก
“ตอนนี้คนอีสานกำลังเผชิญกับภาวะแซนวิชเจเนอเรชั่น คือ คนต้องเลี้ยงทั้งพ่อแม่และลูก เพราะพ่อแม่ที่แก่เฒ่าไม่ได้มีงานทำ ดังนั้นจึงมีภาระทั้งบนและล่าง ฉะนั้นเขากลับมาไม่ได้ ถ้าเขากลับมา เขาจะเติมเต็มด้านเศรษฐกิจครอบครัวไม่ได้ ทุกคนไม่แฮปปี้กับการกลับมาของเขา แม้ทุกคนอยากเจอหน้า แต่จะดีกว่าไหม ถ้าอยู่เกาหลีแล้วกลับบ้านเพียง ปีละครั้งสองครั้ง แล้วส่งเงินมาแทน”เป็นบทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลี
“การไปอยู่เกาหลีมันสามารถตอบความคาดหวังของคนในครอบครัวทั้งหมด แต่ปัญหา คือ ถ้าสอบ EPS ผ่านแล้วมันต้องมีรายชื่อให้นายจ้างเรียก ซึ่งไม่รู้ว่า จะเรียกเมื่อไหร่อาจจะ 3 เดือน 6 เดือน ถึง 1 ปี เพราะฉะนั้นคนที่ไปแบบผิดกฎหมายรับไม่ได้กับความไม่แน่นอนในเรื่องเวลา เพราะตอนที่บ้านต้องการใ้ช้เงินเลย ถ้าลักลอบบินไปกับนายหน้า จ่ายแสนหนึ่ง เอาที่นาไปวางไว้ก็จริงแต่ได้เข้าประเทศเกาหลีเลย นายหน้าจัดการให้ทุกอย่าง ติวการผ่านเข้า ตม.ไม่ต้องรอผลสอบตามระบบจนเสียเวลา แล้วไปเสี่ยงเอาที่นู้น”เขากล่าว
ข้อมูลล่าสุดจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยว่า โควต้าการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ปี 2566 เพิ่มขึ้น 3 กลุ่มวีซ่า จากโควต้าเดิม คือ 2,500 คน เป็น 15,000 คน แต่ระบบชักชวนนั้นย่อมไวกว่าระบบ EPS
ผีน้อยประสานญาติมิตรเพื่อนำเข้าแรงงานไทย
ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า แม้ความต้องการแรงงานของเกาหลีใต้จะมีมากถึงปี 5,000-10,000 คน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเขตชานเมือง และภาคเกษตรกรรม
“หากรอในระบบ EPS ก็จะชักช้าเสียเวลา จึงเกิดการพึ่งพาระบบระบบนายหน้าหรือจากแรงงานเก่าที่เอาคนจากหมู่บ้านไปนำเสนอนายจ้างว่า จะหาคนช่วย กี่คน และส่งดุ่มๆ ไปให้ นายจ้างก็สามารถลักลอบพาเข้าประเทศ โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าประกันหรือค่าใช้จ่ายอะไรที่ถูกกฎหมาย”นักวิชาการจากศูนย์เกาหลีศึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาเล่าข้อมูลที่เก็บรวมรวมจากแรงงานไทยในเกาหลี
ส่วนเรื่องของการเอาผิดกับนายจ้าง ในเรื่องของการกระทำผิดตรวจคนเข้าเมือง หากพบว่ามีการจ้างงานแรงงานนอกระบบจะมีโทษปรับเป็น 20 ล้านวอน หากเป็นโรงงานที่มีแรงงาน EPS ทำงานอยู่ด้วยก็จะถูกตัดสิทธิการจ้างแรงงาน EPS ไปล่วงเวลาหนึ่ง แต่ความจริงทางการของเกาหลีใต้ไม่มีเข้มงวดในการปราบปรามนายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานเหล่านั้น และเกาหลีใต้ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมากเพื่อรักษาระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลเกาหลีจึงไม่ได้มุ่งหวังจะขจัดแรงงานที่ผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง เพียงแค่ต้องการลดจำนวนให้ลงเหลือระดับที่เหมาะสม
ระบบกลับใจกลับได้ฟรี
ช่องทางการหางานของ “ผีน้อย” ค่อนข้างสะดวกและแพร่หลายเพียงปลายนิ้ว เพราะสามารถค้นหาในโซเซียลมีเดีย และมีการโฆษณางานประเภทต่างๆ รวมถึงงานที่ไม่มีรองรับในระบบ EPS
แต่เนื่องจากการล้นของจำนวนแรงงานผิดกฎหมายไทยในเกาหลีใต้ ข้อมูลล่าสุดกระทรวงยุติธรรมใช้ระบบรายงานตัวสมัครใจเดินทางกลับแบบพิเศษชั่วคราวสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักผิดกฎหมาย สามารถรายงานตัวตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน 2565 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อที่จะระบายจำนวนผู้พำนักผิดกฎหมายกลุ่มเก่าออกมา การตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้จึงใช้มาตรคัดกรองผ่านระบบการลงทะเบียน K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization)
ปัญหาของการหลบซ่อน
ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า แรงงานเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการโดนนายจ้างสามารถเอารัดเอาเปรียบได้ ไม่ต้องจ่ายเต็ม ถ้าอยู่แบบไร้ต้วตน กฎหมายก็ไม่สามารถคุ้มครองได้ ต้องอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบ
“ข้อมูลเพิ่มเติมของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซลระบุว่าจะ ช่วงนี้มีการรับจ้างหิ้วลูกของผู้พำนักผิดกฎหมายกลับประเทศไทย โดยการแจ้งผ่านสถาณทูตและให้คนที่ถือวีซ่าถูกต้องตามกฎหมายรับจ้างอุ้มเด็กกลับไทย”ดร.ไพบูลย์ กล่าว
“เมื่อเทียบดู จีดีพีเกาหลีกับไทยจะเห็นการพัฒนาที่แตกต่างกันมากถึง 5 เท่า พูดง่ายๆคือการที่ไปอยู่เกาหลีเท่ากับเรามีเงินมากกว่าไทย 5 เท่า เวลาเขามองเราอาจจะมองว่าเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานหรือมองเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องรัฐประหารทำให้อาจมีอุปสรรคในการพัฒนาเยอะ”ดร.ไพบูลย์ กล่าว
แม้ในสังคมเกาหลีจะมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสูง หรือไม่ได้เป็นสวรรค์สำหรับพลเมืองในประเทศสำหรับบางเรื่องนัก แต่ในแง่เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่เกาหลีใต้อาจจะดูสะดวกสบายสำหรับคนไทย และมีสวัสดิการรองรับที่ดีกว่า ภาพการพัฒนาที่รวดเร็วทำให้เป็นเป้าหมายของแรงงานและเป็นสวรรค์ของใครบางคน
“ผมเคยถามคนไทยที่อยู่ในเกาหลีเป็นสิบๆ ปี เขาบอกไม่คิดจะกลับมา ประเด็นสำคัญคือการอยู่ที่นั่นมันไม่อึดอัด การที่เขาอยู่ที่นั่นสามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อีกสิบคน
“อาชีพที่ชนบทในไทยมีอะไรให้ทำ วุฒิการศึกษา ม.3 จะได้ทำอาชีพอะไร สู้ไปเกาหลีได้กี่ล้านวอนดีกว่าไหม นี่คือความคิดของแรงงานเหล่านั้น”ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีกล่าวสิ่งที่ได้รับฟังจากแรงงานไทยในเกาหลี ส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน สะท้อนภาพของความเป็นจริงของแรงงานพลัดถิ่นที่ไม่มีงานในบ้านเกิด
อ้างอิง:
- https://datastudio.google.com/reporting/89607282-a4c6-4a0c-b6e9-a2934c16d885/page/p_rawnmuf5lc?s=n2uNLXtX4d0
- https://themomentum.co/feature-employment-permit-system/
- https://korea.mol.go.th/