วันนิษา แสนอินทร์ เรื่องและภาพ

ถนนเล็กๆ ข้างวัดมัชฌิมวาสตั้งอยู่บนถนนหมากแข้ง อดีตเคยมีบ้านเช่านับสิบหลัง มีชีวิตของศิลปิน หมอลำ หางเครื่องอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความหวังและความฝันของเหล่าหมอลำที่จากบ้านมาหางานแสดงในตัวเมือง จังหวัดอุดรธานี แต่ปัจจุบันเหลือบ้านที่ทำอาชีพหมอลำเพียงไม่กี่หลัง

“ลานกว้างๆ ตรงนั้นก็เป็นบ้านหมอลำหมดเลย ตอนเด็กๆ เคยไปเล่นตรงนั้น พอมันเริ่มหายไปก็รู้สึกว่า มันจะหมดยุคของหมอลำแล้วหรือเปล่า สมมติถ้าหมอลำมันหายไปจริงๆ คนที่ทำอาชีพหมอลำเขาจะทำอะไร กลับไปทำนา เลี้ยงควาย แล้วจะเอาอะไรเป็นทุนทำอาชีพนี้ต่อ” ชลธิชา ดาบุตร เป็นหมอลำเพียงไม่กี่คนที่ยังอยู่อาศัยอยู่ในซอยนี้

ชลธิชายังเล่าต่อว่า ช่วงโควิด เจ้าภาพไม่มีเงินมาจ้างหมอลำ หมอลำก็ตกงานเหมือนคนทำงานโรงงาน ไม่มีเงินเดือนจึงทยอยกันออกไป บางคนกลับบ้าน ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย 

ยุคสมัยเปลี่ยน แค่ยกหูก็จ้างหมอลำได้

ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็ทำให้การว่างจ้างหมอลำปรับตัวไปด้วย

เทวี บุตรตั้ว ฉายาหมอลำเทวี ฟ้าฮ่วน วัย 75 ปี นายกสมาคมศิลปินหมอลำ จ.อุดรธานีเล่าว่า ก่อนหน้านี้การประสานงานกับหมอลำยังไม่เจริญ เมื่อก่อนเจ้าภาพจะว่าจ้างหมอลำก็ต้องมาเจอกันต่อหน้า มาทำสัญญากัน

“ตอนนี้ไม่ต้องจำเป็นต้องเดินทางมาเจอกันก็ได้ แค่ยกหูโทรศัพท์ ออนไลน์คุยกัน ส่งสัญญาทางมือถือก็ได้” นายกสมาคมศิลปินหมอลำบอกถึงเหตผลหนึ่งที่ทำให้ชุมชนหมอลำฯ แห่งนี้กำลังจะจางหาย


เทวี บุตรตั้ว หรือ หมอลำเทวี ฟ้าฮ่วน นายกสมาคมศิลปินหมอลำ จ.อุดรธานี และสำนักงานหมอลำที่อยู่ข้างวัดมัชฌิมวาส

ยุคสมัยเปลี่ยนหมอลำต้องปรับตัว

นอกจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงที่ทำให้หมอลำต้องปรับตัว ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้หมอลำต้องงดงานรื่นเริง โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในภาวะของความเศร้าโศกร่วมกับมหาชน

ช่วงเริ่มต้นที่งานมหรสพไม่สามารถแสดงได้ พอมาถึงช่วงโควิดหมอลำก็ตกงาน แต่มีช่วงก่อนหน้านั้นที่ช่วง ร.9 สวรรคต ช่วงนั้นก็ต้องงดการแสดง งดการจัดงานทุกอย่าง หมอลำก็ไม่ได้ไปแสดง พอช่วงนั้นงานมันเยอะ เราก็รับงานไว้เต็มกระดาน บางคนก็สิบงานยี่สิบงาน ว่าจ้างกับเจ้าภาพไว้แล้ว ทำสัญญา มีมัดจำ พองานจัดไม่ได้ เจ้าภาพก็มาขอเงินมัดจำคืน คนรับงานก็ต้องหาคืนให้เจ้าภาพ”หมอลำเทวี เล่าปัจจัยที่ต้องงดงานรื่นเริง แม้ใจอยากจะรับงานแสดงก็ตามที

เธอเล่าอีกว่า ต่อมาทางรัฐบาลเปิดให้มีมหรสพทำงานได้ หมอลำก็เริ่มมีงานอยู่ประมาณ 2-3 เดือน เงินที่ไปยืมเขามาคืนเจ้าภาพก็ยังใช้หนี้ไม่หมด

“คนที่มีงานเยอะก็ต้องใช้คืนเจ้าภาพเยอะ บางงานก็มัดจำห้าพัน บางงานก็มัดจำหมื่นหนึ่ง เราต้องคืนเขาหมดทุกบาท”เธอเล่าถึงเรื่องอดีตอย่างปลงตก 

สถานการณ์หนี้สินจะเริ่มดีขึ้น แต่เมื่อโรคโควิด-19 ถาโถมก็ทำให้งานบันเทิงถูกยกเลิกตามมาตรการของรัฐ ถือเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่ไม่รู้จักจบสิ้น 

“หมอลำที่มาอยู่ในชุมชนนี้ก็ไม่ใช่บ้านตัวเองสักคน เพราะทุกคนมีถิ่นฐานของตัวเอง อยู่ต่างอำเภอ แต่มาอยู่ตรงนี้ มาเป็นศูนย์รวมหมอลำ เพราะเจ้าภาพหาง่าย จะเลือกใครก็มาเลือกได้ตรงนี้เลย แต่ทีนี้งานไม่มี เขาอยู่ตรงนี้ เขาก็เช่าอยู่ แล้วเขาจะเช่าอยู่ทำไม งานไม่มี เงินไม่มี แสดงก็ไม่ได้แสดง เขาก็เลยกลับไปบ้านใครบ้านมัน พอมีงานแสดงทีนี้ก็โทรเรียกกันเอา”เธอเล่าด้วยความเจ็บปวดที่เห็นชุมชนหมอลำล่มสลาย

ช่วงมรสุมโควิดเจ้าของบ้านเช่า ก็ประกาศขาย ประกาศให้เช่าที่ดิน ชุมชนหมอลำจึงเหลือเพียงเหลือแค่นี้ 

หมอลำยังไม่สูญหาย

แม้อาชีพหมอลำจะขาดรายได้ งานแสดงน้อยลง แต่เทวี ฟ้าฮ่วน ยังคงบันทึกตำนานของตัวเองอยู่เสมอ เธอยังคงสร้างหมอลำรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา

“ก็ยังมีคนมาฝึกเรียนหมอลำอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เช่าอยู่ตรงนี้แล้ว หมอลำยังเหลือและยังผลิตขึ้นมาอยู่ ครูหมอลำคนอื่นเขาก็ทำเหมือนกัน ต่างคนก็ต่างมีลูกศิษย์ของตัวเอง ไม่สูญหายแน่นอน แต่จะยังมีอยู่ที่ตรงนี้หรือเปล่าเป็นเรื่องหนึ่ง”เธอกล่าวด้วยความหวัง   


กลอนลำของหมอลำเทวี ฟ้าฮ่วน ที่บันทึกไว้ด้วยลายมือเมื่อครั้งยังมีงานแสดง

“แต่ก่อนหมอลำในซอยนี้เดินพลุกพล่านเหมือนตลาดเลย คนไปคนมา ห้องเช่าห้องหนึ่งมีคนอาศัยอยู่เป็น 5-10 คน บางคนบ้านอยู่ต่างอำเภอก็เข้ามาก็มารอรับงาน ค่ำก็กลับบ้าน สมัยก่อนเยอะอีหลี ก็เป็นที่หากิน แหล่งสถานที่รับงานหมอลำของจังหวัดอุดร จ้างหมอลำต้องมาคุ้มหมอลำข้างวัดมัชฌิมวาส บางคนก็เรียกซอยหมอลำ บางคนก็เรียกคุ้มหมอลำ แต่ที่แน่ๆ คือ อยู่ข้างวัดมัชฌิมวาส”เธอเล่าถึงอดีตในความทรงจำ

เมื่อวิถีชีวิตของหมอลำในชุมชนเปลี่ยนก็ทำให้เธอใจหายด้วยเช่นกัน ไม่ไกลบ้านหมอลำเทวีนัก มีป้ายหน้าบ้านว่า อุดรมิตรนิยม โดยมีหมอลำ พวงผกา ดารากร วัย 37 ปี และคณะที่ยังอยู่ในชุมชนนี้ เธอเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมกับถอนหายใจในสิ่งที่กำลังเลืองลางหายไป

“ เจ้าของที่ที่เคยให้คนเช่า เริ่มมาทำหอพัก บางคนก็ขายไป เมื่อมีเจ้าของใหม่มาเขาก็ก้รื้อบ้านหลังเก่าออกไป เพราะมีโครงการจะทำหอพัก ใกล้สถานศึกษา ใกล้แหล่งชุมชน เมื่อก่อนเคยมีเจ้าภาพเดินมาเลือกหมอลำ แต่ตอนนี้เขาจ้างกันทางออนไลน์หมดแล้ว”หมอลำพวงผกา บอก  


หมอลำพวงผกา ดารากร เจ้าของคณะหมอลำอุดรมิตรนิยม ด้านหลัง คือ ไวท์บอร์ดตารางงาน

จ้างถูกจ้างแพงก็ต้องไป

เธอบอกอีกว่า แม้การตั้งสำนักงานก็ไม่มีลูกค้าเข้าหา เพราะทุกวันนี้ก็จ้างตามสื่อโซเชียล ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากหมดโควิดไป งานเล็กๆ ไม่ได้จ้างในราคาเต็ม จ้างในราคาโควิด

“จะถูกหรือแพงก็ต้อง เพราะต้องการงาน ให้ลูกน้องมีงาน ช่วงโควิดก็ลำบากเหมือนกัน 2-3 ปี เล่นได้ไม่กี่งานก็หยุด”เธอเล่า

“มันก็ลำบาก เพราะเราทำอาชีพเดียวกันทั้งครอบครัว ไม่มีใครที่จะฉุดดึงกันได้ก็ลำบากไปด้วยกัน กู้หนี้ยืมสินกันเยอะแยะ ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้น มีพอที่จะไปใช้คืนเขาบ้าง ช่วงโควิดได้เงินเยียวยาจากรัฐบาลในอาชีพศิลปิน มันก็ไม่เหมือนเราไปหาเงิน จริงๆ เราอยากทำงานหาเงินเองมากกว่า เพราะยังไงเงินเยียวยาที่ได้มันก็ไม่พออยู่แล้ว”


ภายในบ้านของพวงผกา มีจักรเย็บผ้าไว้ตกเครื่องแต่งกายของหมอลำ

เสียงจากคนที่อยู่กับชุมชนหมอลำ

สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับทุกชุมชน คือ ร้านค้า ซึ่งร้านชำในชุมชนหมอลำ อรยา วาทีประเทือง วัย 70 ปี เปิดมากนานกว่า 50 ปี เธอมาในซอยแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2510

เธอบอกว่า หมอลำไม่อยู่แล้วก็เงียบ วันๆ หนึ่งขายได้ไม่กี่ร้อย บางวันก็ไม่ได้ขาย เมื่อก่อนมีหมอลำ เวลาเจ้าภาพมาเลือกหมอลำเขาก็มาซื้อของร้านเรา ทุกวันนี้ไม่มีเจ้าภาพเข้ามา เขาไปจ้างกันในออนไลน์หมดแล้ว ทำให้เราขาดรายได้ไปด้วย


อรยา วาทีประเทือง และร้านขายของชำในซอยหมอลำ จ.อุดรธานี 

“หายไปตั้งแต่โควิด เพราะโควิดไม่มีงาน ไม่มีใครมาจ้าง เขาก็หายกันไปตั้งแต่ตอนนั้น”เธอเล่าด้วยใบหน้าเรียบเฉย

อรยามาอยู่ก่อนชุมชนหมอลำ ครั้งแรกก็มีหมอลำเพียงเจ้าสองเจ้า เจ้าภาพก็มีเข้ามาจ้างเยอะ บ้านหมอลำหลังหนึ่ง ถ้าจะมาอยู่ก็ต้องเซ้งต่อกันสี่หมื่นถึงห้าหมื่นถึงได้อยู่ที่นี่ ถ้ามาอยู่ก็ได้รับงาน เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แต่ก่อนขายของวันเดียวก็ได้หลายพัน 

ศึกษาซอยหมอลำก่อนโรยรา

ระหว่างรอยต่อของยุครุ่งเรืองและยุคเสื่อมถอย ผศ.ดร.มนูศักดิ์ เรืองเดช อาจารย์สอนสาขาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยราชภัฏ อุดรธานี และเคยทำวิทยานิพนธ์การแสดงหมอลำ กรณีศึกษาชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมวาสกับบริบททางสังคม จ.อุดรธานี

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี 2552 ที่บอกว่า ซอยหมอลำข้างวัดมัชฌิมาวาสจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีวิวัฒนาการ มีความหลากหลาย มีชีวิตของศิลปิน เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตรงนี้ 

ตำนานชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมวาส

ผศ.ดร.มนูศักดิ์ เล่าข้อมูลส่วนหนึ่งจากวิทยานิพนธ์ว่า ชุมชนหมอลำ คุ้มหมอลำ หรือซอยหมอลำข้างวัดมัชฌิมวาส จ.อุดรธานีแห่งนี้ สมัยก่อนการคมนาคมไม่สะดวก ทางเทศบาลจึงตัดถนนเส้นหนึ่งข้างวัดมัชฌิมวาส แล้วมีหมอลำชื่อ ก้อนทอง โคตรประทุม มาเปิดร้านตัดผมแล้วชื่อร้าน “ก้อนทอง บาร์เบอร์” จึงเกิดเป็นวงสนทนาเกี่ยวกับหมอลำและมีติดต่องานแสดงหมอลำ

“สมัยก่อนแสดงจนถึงสว่าง พอถึงเวลาแสดงเสร็จคณะหมอลำจึงพากันมาพักที่ห้องเช่าซอยข้างวัดมัชฌิมวาส”ผศ.ดร.มนูศักดิ์ เล่าสิ่งที่ได้จากการเก็บข้อมูล  


ผศ.ดร.มนูศักดิ์ เรืองเดช ผู้ทำวิทยานิพนธ์การแสดงหมอลำ กรณีศึกษาชุมชนหมอลำข้างวัดมัชฌิมวาสกับบริบททางสังคม จ.อุดรธานี

ต่อมาหมอลำก็เริ่มมีการจับจองพื้นที่แแต่ละห้องแถว มีการเซ้งเหมือนตลาด แต่เป็นบริบทของตลาดหมอลำ มีการสลับสับเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ระยะลำกลอน ระยะลำกลอนซิ่ง และหมอลำเรื่องต่อกลอน มีวิวัฒนาการอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ถึง 70 คณะหมอลำ

“ถามว่า การรวมตัวกันกับการกระจายกันอยู่อย่างไหนดีกว่ากัน ผมคิดว่า การรวมตัวดีกว่า นอกเหนือจากอุดรธานีแล้ว สารคามก็ยังมีอยู่แถว บขส. แสดงว่า มหรสพของภาคอีสานนั้นมีความเฟื่องฟู มีวิถีชีวิต มีการเป็นอยู่ มีพ่อครู แม่ครู ที่สอนคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยู่ข้างวัดมัชฌิมวาส แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงแล้ว”เขากล่าว

“ชุมชนหมอลำฯ กำลังหายไป เหลือไม่กี่คนที่อยู่ พื้นที่ตรงนี้ก็กำลังถูกพัฒนา มันก็คงเหลือแต่ร่องรอยประวัติศาสตร์” ผศ.ดร.มนูศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายก่อนจะขึ้นแสดงหมอลำบนเวทีงานทุ่งศรีเมือง


บ้านหมอลำที่ปัจจุบันไม่มีหมอลำอยู่แล้ว เหลือเพียงป้ายด้านหน้าประตูที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น

สำนักงานหมอลำ “มลิวัลย์ ลมบน” ปัจจุบันไม่มีแล้ว เครดิตภาพ วิทยานิพนธ์ของมนูศักดิ์ เรืองเดช ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2552

เกี่ยวกับผู้เขียน

เนื้อหาแนะนำ

เนื้อหาล่าสุด