กรุงเทพฯ - The Isaan record ร่วมกับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน THECITIZEN.PLUS Thai PBS สถานทูตเนเธอแลนด์ประจำประเทศไทย สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เปิดตัวโครงการ Journalism that Builds Bridges จากชายขอบสู่ศูนย์กลาง : ถึงเวลาทบทวนภูมิทัศน์สื่อไทยที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีการเสวนาหัวข้อ “ทำไมสื่อต้องสร้างสะพานเชื่อมผู้คน : เสียงที่ควรได้ยิน” 

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ อดีตผู้ดำเนินรายการ “ถามตรงๆ กับจอมขวัญ” ทางช่องไทยรัฐทีวี 

จากประสบการณ์ของในช่วงปลายปี 2563 ขณะที่จัดรายการช่องทยรัฐทีวี ตนมีบทบาทอยู่เสี้ยวเล็กๆ คือ เราพยายามจะจัดให้คนที่คิดไม่เหมือนกันได้มาเจอกันผ่านสื่อเพราะเราคิดว่าความคุ้นชินของมนุษย์ซึ่งมีจุดยืนต่างกันจนแทบจะคุยกันไม่ได้ แต่ถ้ามีบางประเด็นที่สามารถพูดคุยกันได้ตนคิดว่านั่นคือประโยชน์สูงสุด ในวันนั้นที่ทำรายการ เราไม่ได้มีเป้าหมายที่ต้องการทำให้ใครเกลียดใคร ใครเจ๋งกว่ากัน หรือใครถูกต้องที่สุด สิ่งที่เราทำในช่วงปลายปี 63 เป็นบทเรียนที่ใกล้ที่สุดในการคุยกันในวันนี้ เพราะเป็นบทเรียนที่แปลกออกไปจากเหตุการณ์ปี 53 ซึ่งเรายังพอจินตนาการร่องรอยขอบเขตความขัดแย้งได้ แต่ในช่วง 3-4 ที่ผ่านมา ยืดเยื้อมาถึงตอนนี้และไม่รู้จะถึงเมื่อไร มันเป็นรูปโฉมใหม่มีเหลี่ยมที่ต่างออกไปในการรายงานข่าวหรือจัดรายการ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้หลายในสังคมเปลี่ยนแปลงไป การอธิบายเรื่องนี้เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ชัดที่สุดว่าทำไมสื่อต้องเป็นสะพานด้วย สื่อควรจะเป็นได้มากกว่าตัวเองเป็นอยู่ แต่สิ่งที่ไม่ควรจะเป็นคือคิดว่าตัวเองเป็นฐานันดรที่สามที่เชื่อกันมา หรือสิ่งที่ไม่ได้พัฒนาตัวเองหรือปรับรูปแบบการทำงานให้มันสอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป  ซึ่งมันยังมีแนวคิดที่เหนี่ยวรั้งการทำงานของสื่อ แต่วันนี้ไม่มีใครรอบทบาทตามนิยามเดิมแล้ว  ตนเชื่อว่าในเรื่องการทำหน้าที่ของสื่อเมื่อมันเกิดความขัดแย้งขนานใหญ่ในประเทศเราย่อมจะต้องยอมรับให้ได้ว่าผู้คนที่แตกต่างกันอยู่ในนั้น แล้วคุณจะเชื่อมโยงผู้คนที่แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งคำว่าเชื่อมโยงไม่ได้แปลว่าใครแพ้ชนะ ประสานรอยร้าวกันจนไม่รู้ถูกผิด หรือคนตายไป ไม่หาเหตุผลหรือดำเนินคดี แต่มีหลายมิติที่สื่อต้องทำหน้าที่นี้พร้อมกับหน้าที่เก่าๆ ที่สื่อก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าไร เมื่อเจอแบบฝึกหัดใหม่ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลที่สื่อต้องตระหนักในหน้าที่ตัวเองว่ามันมีบทบาทแบบนี้ได้ด้วย 

สำหรับปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาหรือมีการถูกคุกคามหรือไม่ สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเราตัดสินใจถูกที่เราไต่เส้น งานของตนในช่วงนั้น การตัดสินใจลาออกเป็นการตัดสินใจส่วนตัวไม่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนโดนคุกคามหรือไม่ ไม่ทราบเพราะเรื่องยังไม่มาถึงตัว แต่ก็มีในส่วนไอโอที่เข้ามาสร้างความรำคาญบ้าง อย่างไรก็ตามวันนี้ต้องขอบคุณที่เทคโนโลยีเกิดการดิสรัปท์ ไม่เช่นนั้นประเทศกรุงเทพฯ ก็ยังจะคิดว่าตัวเองเจ๋งอยู่อย่างนี้ หลังรัฐประหารครั้งล่าสุดมันทำให้สื่อเบนความสนใจออกจากประเด็นหนักหมด เพราะมันกินระยะเวลายาวมาก การที่สื่อจะอยู่รอดได้คือการไปจับข่าวสีสัน ไม่ใช่ว่าข่าวเหล่านี้ไม่มีคุณค่าในตัวเอง แต่ถูกจับในเหลี่ยมที่เป็นดรามาและฉาบฉวย ทำให้เนื้อหาของข่าวที่ควรจะจับเรื่องหนักอย่างสังคม การเมือง มันถูกเบนมาที่อาชญากรรมที่ไม่ใช่การลงลึกถึงแก่นแกนกระบวนการยุติธรรม ระบบการสืบสวนสอบสวนแต่อยู่ในความฉาบฉวยเท่านั้น 

“ขอบคุณที่เกิดสื่อใหม่ที่มาในวันนี้ขึ้น อย่างไรก็ตามสื่อส่วนกลางก็ไม่ได้ไร้เดียงสาแต่กินพื้นที่มาตลอดและมากเกินไป ขณะที่สำนักข่าวต่างๆเกิดขึ้นและส่องแสงออกมา ถือเป็นเรื่องดีเพื่อทำให้สื่อส่วนกลาง สำนักข่าวส่วนกลางที่มีวิธีคิดแบบคนส่วนกลาง คนชั้นกลางกระแสหลักได้รู้ว่าจริงๆ แล้วผู้คนมันมีมากกว่านั้น ดังนั้นการขับเคลื่อนที่สำคัญคือการดำรงอยู่ของสื่อทางเลือกในแต่ละพื้นที่และวิธีคิดใหม่ๆ การเข้าใจโลกอย่างรวดเร็วของคนเกิดหลังเราเยอะๆ  สื่อทางเลือกอาจจะไม่ต้องขยับตัวเยอะ เพราะเวลา กระแส และเทคโนโลยี มันพาให้ส่วนกลางขยับออกไปหาเราเอง”จอมขวัญกล่าว 

รุสลาน มูซอร์ บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานี  

ทำไมต้องมีวาร์ตานีก็เพราะก่อนหน้านั้นคนใน 3 จังหวัดโดนกระทำ ไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกหรือเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองของตัวเอง  คน 3 จังหวัดไม่กล้าแสดงออกเพราะโดนกดทับมาหลายปีมาก ไม่ใช่แค่ 18 ปีที่เราเห็น แต่ก่อนคนมลายูก็ไม่มีพื้นที่ ๆ จะคุยและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง ความยุติธรรมใน 3 จังหวัดหาได้ยาก จึงต้องมีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกและพูดคุยออกมา สิ่งที่เราทำมันเปลี่ยนพื้นที่ได้ คือทำให้คนกล้าที่จะออกมาพูดและแสดงออกว่าเขาถูกทำอะไร  แต่ก่อนสื่อภาคกลางพยายามตีตราคน 3 จังหวัดว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือเสียชีวิตเป็นกลุ่มโจรใต้ จนวาทกรรมโจรใต้รวมถึงกรณีตากใบ แม้คนๆ นั้นจะออกมาขอโทษแต่คน 3 จังหวัดก็ยังติดอยู่กับคำนี้ และก็ตราตรึงอยู่ในจิตใจว่าเขาถูกตราหน้าว่าเป็นโจรใต้มาโดยตลอด 

ในความเป็นจริง เรื่องราวในพื้นที่มันไม่เหมือนที่เขานำเสนอ เพราะสื่อภาคกลางไม่ได้เข้าถึงพื้นที่และแหล่งข่าวในพื้นที่จริงๆ เขาแค่เอาข่าวจากรัฐไปนำเสนอจึงเป็นการนำเสนอแค่มุมเดียว วาร์ตานีจึงออกมานำเสนออีกมุมหนึ่งคือมุมของคนในพื้นที่ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร ทำไมคนที่เสียชีวิตไปในการต่อสู้ทำไมคนถึงออกมาแห่ศพมากขนาดนี้ ทำไมในมุมมองของประชาชนเขาคือวีรบุรุษ  ทำไมมุมมองของรัฐเขาคือผู้ก่อการร้ายหรือโจรใต้ เราพยายามนำเสนอเรื่องราวว่าความคิดของคนปัตตานีเป็นอย่างไร เราพยายามสื่อสารเรื่องราวจากคนในพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อไปยังคนข้างนอก สิ่งที่เรานำเสนอเราใช้ภาษามลายูเป็นหลัก และเป็นภาษาที่เอเชียใช้มากที่สุด และพยายามนำเสนอเรื่องราวว่าคน 3 จังหวัดโดนกระทำอย่างไร พยายามเชื่อมกับสื่อทุกภูมิภาคถึงความเป็นจริงใน 3 จังหวัด  โดยใช้วาร์ตานีเป็นตัวเชื่อมระหว่างเสียงกับเสียง ส่วนเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ วันนี้คนรู้จักวาร์ตานีและรับรู้ความจริงในพื้นที่มากขึ้น ทั้งคนในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย และคนนอกประเทศ ก็ได้รับรู้ว่าบริบทของคนปัตตานีเป็นอย่างไร นี่คือสะพานที่เราเชื่อมซึ่งกันและกันอยู่ 

ตั้งแต่ทำวาร์ตานีก็ถูกคุกคามมาโดยตลอด การคุกคามของอำนาจรัฐมีเยอะมากในพื้นที่ ไม่ใช่แค่กับสื่ออย่างเดียว แต่มีทั้งคุกคามภาคประชาชน นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ หลายๆ ส่วน แต่เราแบกความหวังของคนในพื้นที่ไว้ สะพานที่เชื่อมเป็นสะพานแห่งความหวังของคนที่ไม่เคยมีพื้นที่ ๆ จะบอกว่าตัวเองเป็นใครด้วยซ้ำ 

ผมคุยกับน้องๆ ทุกคนในสำนักตลอดว่า แม้วันนี้เราจะไม่อยู่ แต่อุดมการณ์ที่เราเริ่มสร้างวาร์ตานีขึ้นมาต้องเดินไปให้ได้ เพราะมันมีความหวังของคน 2.8 ล้านคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้หวังไว้ว่า เสียงของเขาจะถูกสะท้อนออกไปว่า เขาถูกกระทำอะไรบ้าง ผมเชื่อว่า วันหนึ่งถ้าตนหายไป สิ่งนั้นมันจะแตกหน่อออกไปเสมอ ในแต่ละภูมิภาคมีประเด็นที่เชื่อมโยงกันได้ แต่มันไม่มีคนที่จะคอยประสานว่าเรื่องราวของแต่ละประเด็นมันเหมือนกันคือคนมันโดนกระทำโดนกดขี่เหมือนกัน ซึ่งถ้าเราเชื่อมถึงกันได้ เราจะมีพลังอย่างมากในการนำเสนอประเด็น  

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท 

ผมคิดว่า การสร้างสะพานเชื่อมผู้คน สิ่งสำคัญ คือ เรื่องเล่าเราจะร้อยเชื่อมอย่างไรให้เห็นถึงเรื่องเล่าที่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการยกเคสขึ้นมาแล้วสร้างดรามาเคล้าน้ำตา ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา สะพานยังไม่พอมันต้องเป็นหัวเจาะน้ำบาดาลลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้นอีก เพื่อให้เห็นถึงทางออกของปัญหา ต้องเป็นสะพานเชื่อมผู้คนที่ทำให้เห็นถึงความเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมกัน เราไม่ใช่แค่กลุ่มผลประโยชน์แต่เรามีสถานะชนชั้นเดียวกัน เมื่อเราสามารถข้ามพื้นที่และเห็นถึงวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว 

ผมคิดว่า พลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการต่อรองในเชิงระบบโครงสร้างที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเป็นโจทย์สำคัญ ดังนั้นสะพานที่ตนคิดว่าจะต้องเชื่อมก็คือสะพานของข้อมูล ประเด็นและแหล่งข่าว ที่สำคัญคือเชื่อมกับผู้อ่านสาธารณชนและเชื่อมกับผู้ออกนโยบาย ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ให้เขาได้ชี้แจง อธิบายและแก้ปัญหาในงานข่าวที่เรานำเสนอออกไปได้ 

การทำงานของประชาไทพบอุปสรรคมาตลอด ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาประชาไทเกิดวิกฤตตัวตน เพราะทีมงานประชาไทหลายคนไปเติบโตในเส้นทางของตัวเองในสื่ออื่นๆ ที่ใหญ่กว่าประชาไทด้วย แต่ก็ยังพอดันกันต่อไปได้ จนเมื่อปี 63 เมื่ออานนท์ นำภา มีการประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ  10 ข้อ เราก็ลงเนื้อหาทั้งหมดไปอย่างซื่อๆ หลังจากนั้นมีคนบริจาคเงินเข้ามาเป็นรายย่อยจำนวนเยอะมาก มันตอบโจทย์ว่าเรายังมีความจำเป็นอยู่ เพราะว่าชุมชน คนอ่าน คนเสพสื่อเขาสนับสนุนผ่านการจ่ายเงินมาให้เรา มันไม่ได้หมายความว่าเรายิ่งใหญ่หรือกล้าหาญชาญชัยอะไร แต่เราเป็นเหมือนหนูทดลองด้วยซ้ำไป เขายังไว้ชีวิตเราอยู่ เพราะว่าเราเป็นหนูทดลอง และทำให้บรรดาสื่อหลายที่เอาไปอ้างอิง จึงเป็นสะพานเชื่อมกับสื่อด้วยกันเองว่าเพดานเหล่านี้มันเล่นได้ มันนำเสนอได้ หลังจากนั้นจึงมีการรวมกลุ่มและพูดคุยกันของนักข่าวยกเพดานในการนำเสนอข้อเรียกร้องที่เป็นปรากฏการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้เรารู้สึกว่าเรายังมีคุณค่าต่อสังคมนี้ และหากพรุ่งนี้สังคมไม่มีเราแต่สังคมยังเดินต่อไปได้ก็ถือเป็นเรื่องดีเช่นกัน ทั้งนี้ต้องตระหนักอยู่เสมอเวลาทำข่าวเราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลดังนั้นจึงต้องสนใจคนอื่นด้วยว่าเขาคุยกันเรื่องอะไรและเราต้องเชื่อมกับเขาให้ได้ 

วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวลานเนอร์  

กล่าวว่า สำหรับสำนักข่าวลานเนอร์ ภูมิทัศน์สื่อของภาคเหนือมีมาก่อนหน้านี้คือมีสำนักข่าว มีสื่อที่ทำงานอยู่อย่างต่อเนื่องระดับหนึ่ง แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาแต่ละสื่อก็ลดบทบาทและความต่อเนื่องลง เราคิดว่าการที่เราจะเข้ามาเป็นสะพานในช่วงเวลาเหมาะสมแบบนี้มันน่าจะช่วยได้ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมามันเป็นช่วงสะพานขาด ตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา ซึ่งเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพราะมีประกาศ คำสั่ง และกฎหมายเข้ามากำกับชีวิตของเราอย่างมาก เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราถูกปิดปากไม่ให้พูด ต่อมาในปี 63 ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มต่างๆ ทำให้เรื่องที่ไม่เคยถูกพูดถึงในทางสาธารณะถูกนำมาพูดถึงมากขึ้น พื้นที่ต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคสามารถพูดถึงเรื่องที่อัดอั้นตันใจและอยากสื่อสารได้อย่างเต็มที่ ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราจะขอเป็นพื้นที่  ๆ สื่อสารประเด็นทางสังคมในมิติต่างๆ ที่ต่อเนื่องและมีความหลากหลายน่าจะมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงสังคมและชีวิตที่ดีกว่าเกิดขึ้นได้ การมีสื่อมันเชื่อมให้ผู้คนกลับมาคุยกันมากขึ้น และเชื่อมให้ภาคประชาสังคมสามารถสื่อสารรณรงค์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น และช่วยให้ประชาชนเห็นว่ายังมีประเด็นที่มากกว่าที่เขาเห็นในสื่อกระแสหลัก 

“เชื่อว่าการสร้างสะพานในครั้งนี้มันเชื่อมโยงถึงกันได้ ถ้าดูให้เห็นและมองลึกเข้าไป จะทำให้เห็นว่าเราถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ๆ มีแต่ส่วนกลาง แต่บทบาทของภูมิภาคหรือขอบของแต่ละที่มันถูกลดทอนให้หายไป เพราะรัฐส่วนกลางพยายามทำให้เหมือนกัน ดังนั้นหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องช่วยกันโดยเฉพาะสื่อในระดับท้องถิ่นมันคือการเชื่อมเพื่อทำให้ผู้คนเห็นอำนาจในตัวเอง เห็นว่าตัวเองมีชีวิตแบบไหน ซึ่งเป็นโจทย์ของการสร้างสะพานที่ท้าทายมากขึ้นว่าแล้วเราจะช่วยกันค้นหาสืบค้นมันอย่างไร และเป็นจังหวะที่ดีที่ทำให้เราอาจจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้”วัชรพลกล่าว

อ.ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ที่ปรึกษาสำนักข่าวลาวเดอร์  

ต้องกลับไปที่ประเทศเราก่อนว่าประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่ก่อนเราจะฟังข่าวหรือจะรู้อะไรต้องให้คนกรุงเทพฯตัดสินใจว่าจะนำเสนอเรื่องอะไรบ้าง และเราควรจะรู้อะไรบ้าง การเกิดขึ้นของลาวเดอร์ก็เหมือนการเกิดขึ้นของเดอะอีสานเรคคอร์ดที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ หรือขอนแก่น แต่มีที่อื่นที่ควรจะส่งเสียงและควรถูกเปล่งเสียงออกมา ทำไมเรารู้สึกเศร้ากับกรณีอิแทวอน ประเทศเกาหลี ความตายในคืนฮาโลวีนที่นั่น เพราะเราคุ้นกับเขาด้วยภาษาสิ่งที่เราสัมผัสเขาผ่านสื่อมาโดยตลอด แต่พอชาวบ้านที่พูดภาษาต่างจากคุณที่เป็นคนไทย ซึ่งไม่ถูกสื่อสารอย่างเป็นระบบหรือไม่ถูกจัดสรรให้กลายเป็นคอนเทนต์ที่ถูกนำเสนอต่อสังคม เราก็จะสึกเฉยๆ และรู้สึกว่าเป็นคนอื่นด้วยซ้ำ การทำงานในพื้นที่จึงเป็นการส่งเสียงที่ไม่เคยถูกรับฟังออกมา 

ถามว่าเราจะเป็นสะพานแบบไหน ผมคิดว่าเรากำลังสร้างสะพานแห่งใหม่ เราไม่ได้สร้างเขื่อน เรากำลังสร้างสะพานเพื่อเชื่อมไปสู่คนที่ไม่เคยรู้จักเสียงต่างๆ ของคนในพื้นที่อีสานให้ได้รับรู้เสียงที่มีความแตกต่างหลากหลายของคนในพื้นที่

“ผมคิดว่า ถ้าเราจะทำงานสื่อสารจริงๆ มันไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะความจริงมันต้องถูกพูด เราไม่ได้ปะทะกับอำนาจพวกนั้นโดยตรง แต่เราจะแสดงตัวอย่างให้เห็นว่าอำนาจแบบไหนที่มันละเลยประชาชน ไม่ให้ประชาชนได้เปล่งเสียงและกดประชาชนให้เป็นแค่สิ่งของหรือวัตถุที่จะจับซ้ายหัน ขวาหันได้ เป็นวิธีการที่เราจะทำงาน สิ่งที่น่ากลัวมากกว่า คือการที่จะไม่มีใครสนใจเรื่องที่เราทำ เพราะว่าเรื่องที่เราทำไม่สำคัญพอหรือไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตเขานั่นคือสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า ถ้าเมื่อไรที่รัฐมาเล่นเราแสดงว่าเรากำลังตีเขาในจุดที่เจ็บปวดและอ่อนแอที่สุด” 

คิดว่า การทำงานของเราน่าจะได้เรียนรู้และเข้าใจร่วมกันว่า เราเหมือนหรือไม่เหมือนกันตรงไหน โดยเฉพาะคนชายขอบเราเหมือนกันอยู่แล้ว เราถูกละทิ้งด้วยอำนาจรัฐที่มันควรจะจัดสรรสวัสดิการให้เรา คือเราถูกหมางเมินโดยการจัดการของรัฐที่มันไม่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจกันจะไม่ได้ไม่พิพากษาและไม่หลุดคำว่าโจรใต้ พวกลาวโง่ขี้เกียจ พวกเหนือก็ตอนยอน คนกรุงเทพฯใจดำ เป็นต้น เราจะได้รู้ว่ามิติที่เราถูกกล่อมเกลาด้วยวาทกรรมของรัฐที่ทำมาเพื่อให้เราไปเป็นหนึ่งเดียวกับไทยแท้มันทำให้ความหลากหลายกลายเป็นอื่น เรากำลังฟื้นความหลากหลายให้มันมีความหมายสำคัญที่เราจะอยู่ด้วยกันได้ เราจะได้ไม่กลัวและเกลียดกัน สิ่งที่เรานำเสนอนำไปสู่การเรียกรู้ร่วมกันมากขึ้น เราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่ไปตัดสินด้วยวาทกรรมที่มันนำไปสู่การแบ่งแยกและปกครองอีก เราอาจเป็นพลเมืองที่ดื้อขึ้น แต่เข้าใจกันมากขึ้น น่าจะดีกว่าเป็นพลเมืองดีแต่เชื่องแล้วถูกแบ่งแยกและทำลายทำร้ายกันเอง 

ดร.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี  

คิดว่าเวทีนี้เป็นตัวเปิดโดยพยายามจะทำให้ศูนย์กลางยอมรับและเคารพในสิ่งที่เราเรียกว่าความหลากหลาย  ของท้องที่ๆ มีประวัติศาสตร์มีตัวตนเป็นของตัวเอง ซึ่งกลไกสำคัญที่จะเป็นสะพานเชื่อมได้ก็ควรจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่กลางที่ให้เราได้พูดคุยกแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างมีอารยะ เป็นสะพานที่เชื่อมด้วยเสียง และเป็นเสียงที่มาจากพวกเราเอง ทั้งนี้พวกเราที่เรียกว่าเป็นสื่อจากชายขอบแล้วมาพูดใจกลางเมืองตรงนี้ และเป็นพื้นที่ๆ มีความสำคัญทางการเมืองด้วย เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ใช้เปล่งเสียงในทางการเมืองให้คนอื่นได้เข้าใจ การมาของพวกเราที่มาจากภูมิภาค ชายขอบ หรือเรียกว่าสื่อเล็กสื่อน้อยก็ได้ นี่คือการตอกย้ำการดำรงอยู่ของสื่อเล็กสื่อน้อย เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศสื่อด้วย ดังนั้นอย่ากีดกันเราออกไป เราคือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการสื่อสารนี้ เราคือส่วนหนึ่งของระบบข้อมูลข่าวสารสมัยใหม่และเป็นระบบเนื้อหาข่าวสารสมัยใหม่ที่คุณควรจะฟัง และเป็นสิ่งที่ภาครัฐ ภาควิชาการ ควรจะยอมรับและเข้าใจการมีอยู่ของสื่อเหล่านี้ และขอให้นับรวมพวกเราเอาไว้ด้วย 

รศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา 

สื่อทางเลือกต้องทำหน้าที่ในแง่การบันทึกการที่ประชาชนถูกกระทำในด้านบวก เป็นการสร้างภาพพลเมืองที่เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองให้แตกต่างจากสิ่งที่สื่อมวลชนหลักนำเสนอ เพราะสิ่งที่สื่อนำเสนอมักเป็นภาพของนักต่อต้าน นักประท้วง หรือทำให้เสียชื่อเสียง 

“มันมีความกลัวเสมอเวลาที่เราทำงาน แต่เราต้องกล้า และต้องยึดหลักว่าเรากำลังมาทำอะไร หากเลือกที่จะเป็นสื่อทางเลือกหรือสื่อเฉพาะทาง มันต้องใช้หัวใจอย่างมากในการทำงาน” 

สิ่งที่ทุกคนทำในวันนี้ มันจะถูกบันทึกไว้สุดท้ายมันจะกลายเป็นทฤษฎีแนวคิดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เพราะแนวคิดทฤษฎีของสื่อเหล่านี้ไม่ได้ผู้วิเศษหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่จะมาคิดไว้ก่อน แต่มันมาจากหยาดเหงื่อ แรงงาน และน้ำตาของพวกเรา

เกี่ยวกับผู้เขียน

เนื้อหาล่าสุด