ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจเดลิเวอรี่ที่ดุเดือด รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการเดินไปซื้อของ เปลี่ยนแปลงไปเป็นการหยิบโทรศัพท์มือถือเปิด Application แล้วสั่งของที่ต้องการ ไม่กี่นาทีก็ได้ของที่ต้องการแล้ว
แต่ในการแข่งขันที่อาจจะผูกขาดอยู่กับไม่กี่เจ้าใหญ่ไม่กี่สี ที่ต่างงัดความดีเด็ดออกมามัดใจผู้ใช้บริการอย่างไม่หยุดยั้ง ในสนามที่เดือดระอุนี้ ยังคงมีบริการเดลิเวอรี่ขนาดเล็กที่ใจใหญ่ไม่แพ้ใคร
‘Karen Man’ เป็นธุรกิจขนาดเล็กในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้จะขนาดเล็กแต่ก็มีบริการสารพัดอย่างที่ไม่เล็กตามขนาด ตั้งแต่การซื้ออาหารของกินของใช้ รวมไปถึงบริการจ่ายบิลและส่งของ โดยมี Motto เท่ ๆ ที่กินใจ ว่า “ให้บริการเสมือนคุณมาซื้อของเอง ด้วยราคาที่คุณอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”
วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคมปี 2566 เราได้นัดกับ ‘แบงค์’ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและผู้ก่อตั้งธุรกิจเดลิเวอรี่เชื้อชาติชาติกะเหรี่ยง ‘KAREN MAN’ และ ‘ฮาย’ ผู้เป็นหุ้นส่วนธุรกิจและหุ้นส่วนชีวิตในเวลาเดียวกัน
เรานัดเจอกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เป็นร้านอาหารพม่าร้านเล็ก ๆ แต่มีความหลากหลายอยู่มาก เมนูอาหารที่มีทั้งอาหารชาติตะวันตก อาหารพม่าและอาหารจีน ผู้คนที่อยู่ภายในร้านเองก็มีหลากหลายเชื้อชาติอยู่ในสถานที่เดียวกัน แม้ภายในร้านจะมีโต๊ะที่รองรับได้แค่ 10 โต๊ะก็ตาม
จุดเริ่มต้นของเรื่องราว การก้าวออกมาเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง
ก่อนหน้านี้ แบงค์ทำงานประจำอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครในบริษัทที่ทำผ้าใบ ผ้าคลุมรถบรรทุก จุดเริ่มต้นมาจากความเบื่อหน่ายของแบงค์ต่องานประจำที่ทำมาถึง 6 ปี ที่ถึงแม้จะมีการพัฒนาในหน้าที่การงานอยู่บ้าง แต่ความยากที่จะก้าวหน้าหรือขยับให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ทำให้แบงค์เริ่มคิดที่จะหาอย่างอื่นทำ
หนึ่งในตัวเลือกที่เข้ามาคือการทำ Content ลง Youtube แบงค์เล่าให้ฟังว่าเพื่อนคนหนึ่งมาชวน แต่ด้วยข้อจำกัดและความไม่พร้อมที่ยังไม่สามารถเริ่มทำได้ทันที ทำให้แบงค์อาจจะไม่มีรายได้ในระหว่างนั้นได้ แบงค์คิดว่าตนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นได้ ตัวเลือกแรกสุดเลยถูกปัดตกไป แต่ถึงอย่างนั้น แบงค์ก็มีเพื่อนอีกคนที่เคยทำงานเดลิเวอรี่ วันหนึ่งเพื่อนแบงค์มาหาและได้พูดคุยสนทนากัน เพื่อนแบงค์ได้เล่าอาชีพเดลิเวอรี่ให้ฟังเลยทำให้แบงค์มีความคิดที่อยากจะลองทำอาชีพนี้ดู ซึ่งนั่นเป็นไฟประกายแรกสุดของแบงค์ต่องานเดลิเวอรี่
แม้จะมีความสนใจต่อธุรกิจเดลิเวอรี่ แต่แบงค์ก็ยังไม่มีประสบการณ์ในงานประเภทนี้เลย ในทีแรก แบงค์ขอให้เพื่อนของเขาฝากให้เขาเข้าไปทำงานกับกลุ่มเดลิเวอรี่ที่เพื่อนแบงค์เคยทำ แต่ถูกปฏิเสธไปด้วยเหตุผลที่ว่ากลุ่มเดลิเวอรี่ดังกล่าวไม่อยากที่จะต้องมาสอนงานให้กับแบงค์ นั่นทำให้แบงค์ตัดสินใจเริ่มต้นงานเดลิเวอรี่ของตัวเองทันทีพร้อมกับเพื่อนของเขา ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าเริ่มต้นทำด้วยตัวเอง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะไม่ต้องเสียไปให้ใคร
“ก็เลยบอกมันว่า มาอยู่ด้วยกัน มาช่วยกัน คือไม่ได้ให้เขามาเป็นลูกน้อง แต่ว่าให้มาช่วยกันทำไปเรื่อย ๆ แรก ๆ ก็บอกเขาว่า มันอาจจะไม่ดี เราก็ช่วยกันไปก่อน วิ่งส่งของด้วยกัน พอมีรายได้ก็เอามารวมกันแล้วก็แบ่งกัน ก็ชวนกันมาเรื่อยๆ จนเขายอมมา เราก็เลยมาตั้งด้วยกัน” แบงค์เล่าถึงตอนที่ชวนเพื่อนเข้ามาร่วมสร้างธุรกิจใหม่ไปด้วยกัน
ความใจร้อนของแบงค์ ที่อยากจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของพวกเขาเริ่มออกผล พวกเขาเริ่มงานทันทีโดยไม่รออุปกรณ์ที่สั่งทำให้มาส่งถึงมือด้วยซ้ำ ตะกร้าผลไม้กลายเป็นอุปกรณ์ทดแทนระหว่างรอกล่องที่สั่งทำเพื่อส่งของ ไม่รอแม้แต่การสร้างช่องทางในสื่อ Social Media อย่างแฟนเพจ ในช่วงแรกของธุรกิจของพวกเขาอาศัยเพียงคำบอกเล่าปากต่อปากของผู้ใช้บริการเท่านั้น
“ไม่คิดว่าเขาจะใจร้อนขนาดนี้ เขาลาออกปุป เขาตั้งใจจะทำเลย คิดแล้วก็ทำเลย” ฮายเสริม ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่รวดเร็วดี สมชื่อเดลิเวอรี่
การผลักดันตัวตนชาติพันธุ์ ความคาดหวังและเป้าหมายท่ามกลางความท้าทายที่ต้องเผชิญ
นอกเหนือจากความท้าทายท่ามกลางตลาดธุรกิจเดลิเวอรี่ในฐานะเจ้าของธุรกิจแล้ว แบงค์ในฐานะผู้ก่อตั้ง Karen Man ยังมีความคาดหวังที่จะผลักดันอัตลักษณ์ตัวตนของชาวกะเหรี่ยงให้เด่นขึ้นมาอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมบ้าง ผ่านการใช้ชื่อชาติพันธุ์เป็นชื่อแบรนด์ของตัวเองอย่าง Karen Man เพื่อที่จะได้ทำให้คำว่า ‘กะเหรี่ยง’ ถูกมองเห็นและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นความหวังของแบงค์แล้ว นี่ยังเป็นแรงผลักดันที่ทำให้แบงค์เลือกที่จะยืนหยัด เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองแทนที่จะเข้าไปร่วมงานกับผู้ประกอบการเดลิเวอรี่เจ้าอื่น ๆ เพื่อที่จะการันตีว่าตนจะสามารถผลักดันตัวตนของกะเหรี่ยงได้อย่างเต็มที่ ให้เป็นที่รู้จักแค่ภายในประเทศก็ยังดี
“เราอยากให้กะเหรี่ยงมีเอกลักษณ์ของเขา มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแล้วก็ให้คนรู้จักกันบ้าง พี่ก็เลยมาตั้งเป็น Karen Man แล้วถ้าพี่ตั้งว่า Karen man ก็เท่ากับว่าพี่กำลังยกชื่อกะเหรี่ยงขึ้นอยู่ ให้คนได้รู้จักเยอะขึ้น คำว่า Karen จะโด่งดังไปมากขึ้น”
ความท้าทายของธุรกิจเดลิเวอรี่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องหันมาใช้บริการเดลิเวอรี่มากขึ้น จากการที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในที่อยู่อาศัย นั่นทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่หลายเจ้าเติบโตกลายเป็น “ขาใหญ่” ในตลาดขนส่งสินค้าและอาหาร และถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่พฤติกรรมการใช้บริการขนส่งสินค้าก็กลายเป็นความเคยชินของผู้คนยุคนี้ไปเสียแล้ว ความเป็นไปได้และการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่จึงยังคงดำเนินต่อไป แม้จะซบเซาลงไปบ้าง แต่ก็ยังเติบโตกว่าในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ดี โดยประเมินจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินไว้ว่ามูลค่าของธุรกิจ Food Delivery ในช่วงปี 2566 น่าจะหดตัวลงร้อยละ 0.8 ถึงร้อยละ 6.5
Karen Man ในช่วงแรกนั้นมีผู้ใช้บริการประจำอยู่ไม่กี่คน มีลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการไม่กี่ครั้งบ้าง ใช้แล้วบอกต่อบ้างก็มี ผลลัพธ์นี้ผิดจากที่แบงค์คาดไว้ อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งเป้าไว้สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม นี่กลายเป็นห้องทดลองชีวิตธุรกิจที่เปิดโอกาสให้แบงค์ได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองได้ อย่างเช่น เรื่องค่าบริการ ที่แบงค์ก็ได้ปรับแก้ตามความเหมาะสม ปรับให้อยู่ได้ทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ
“ตอนแรกเอาเรทราคาพอ ๆ กับทุกเจ้าเลย เราไม่รู้ว่าเรทราคามันจะแพงไปหรือถูกไป เวลาไปวิ่งเราก็บอกลูกค้าว่า ถ้ามันแพงไปก็บอก เพราะเราไม่รู้ เราไม่ได้เคยสั่งอะไรที่เขาส่งของ พวกเจ้าดังมันมีเรทอยู่แล้ว เขาแค่คลิก แต่เราไม่รู้ เราก็ตั้งไว้ ช่วงแรกๆลูกค้าก็บอกว่า เอ้ย แพงไปนะ เราก็ลดลงมา พอลดลงมาลูกค้าก็เข้ามาหาเรา เราก็ปรับตามสถานการณ์แต่ไม่ใช่ว่าปรับแก้ตามจนเราอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ได้เขาก็อยู่ได้ เราก็โอเค” ฮายเล่า
ในส่วนของผู้ใช้บริการในช่วงแรกของธุรกิจ แบงค์เล่าว่าส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าเก่าของเพื่อน ลูกค้าที่เคยใช้บริการขนส่งเดลิเวอรี่ของเพื่อนแบงค์และตามมาใช้บริการต่อหลังจากที่ได้มาร่วมกันเริ่มธุรกิจใหม่ กับอีกส่วนที่เป็นงานที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่นพี่ที่แบงค์รู้จัก ซึ่งทำงานเดลิเวอรี่อยู่กับกลุ่มอื่น บางครั้งในช่วงที่มีงานเยอะจนล้นมือก็จะส่งงานต่อมาให้แบงค์ และด้วยสองส่วนนี้ก็ทำให้ธุรกิจของแบงค์และเพื่อน ๆ ยังคงอยู่ได้จนถึงตอนนี้หลังจากเปิดให้บริการมาแล้วร่วม 6 เดือน
แต่ถึงแม้ว่าความเป็นไปของธุรกิจ Karen Man ในขณะนี้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ทั้งในอำเภอแม่สอดและต่างอำเภอ ซึ่งแบงค์เชื่อว่าอาจจะเพราะว่า ยังเป็นหน้าใหม่ในตลาดเดลิเวอรี่ Karen Man เลยอาจจะยังเป็นชื่อที่ยังไม่ติดหูผู้คนเท่าไรนัก แต่ก็ยืนยันว่าอยากที่จะให้บริการกับทุก ๆ คนอย่างเต็มที่ ไม่ได้มีความตั้งใจจะแบ่งแยกเชื้อชาติและผู้คนผ่านการตั้งชื่อแบรนด์แต่อย่างใด
“ส่วนใหญ่ลูกค้าหลัก ๆ จะเป็นกะเหรี่ยง ถามว่าคนไทยมีบ้างมั้ย คนไทยมี แต่จะส่วนน้อย แต่จริง ๆ ที่ตั้งว่า Karen man ก็ไม่ได้อยากจะแบ่งแยก อยากจะบริการเฉพาะแต่กะเหรี่ยงนะ ก็อยากจะบริการทุกคนนั่นแหละ แต่อย่างที่รู้กันว่าบ้านเรามีหลายเจ้า แล้วเราก็เป็นน้องใหม่ อาจจะยังไม่ติดหูเขา เขาอาจจะไม่กล้าใช้”
คำถามสำคัญอีกประเด็นก็คือ ในพื้นที่อำเภอแม่สอดเองมีธุรกิจเดลิเวอรี่อยู่หลายเจ้าหลากสี ทั้งสีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีแดง และอื่น ๆ อีกมากมายที่เรียกใช้บริการได้ตามสะดวก ว่าแต่เพราะอะไรเหตุผลอะไรที่ทำให้แม่สอดมีบริการเดลิเวอรี่หลายเจ้า เราลองมาถามเจ้าของแบรนด์สีน้ำตาลน้องใหม่นี้ โดยแบงค์มองว่านี่อาจจะเป็นการเติบโตของตลาดที่เริ่มต่อ ๆ กันมา หลังจากเห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นของแบรนด์เดลิเวอรี่อิสระหลาย ๆ เจ้าที่มีการให้บริการที่ครอบคลุมมากกว่าเจ้าแบรนด์ดัง เพราะนอกจากจะรับส่งอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าทั่วไปแล้ว ยังรับส่งของสด ของในร้านค้า ของในตลาด รับส่งของชิ้นเล็กบ้าง ชิ้นใหญ่บ้าง น้อยชิ้นบ้าง เยอะชิ้นบ้าง ไปรับ และส่งพัสดุแทน รวมไปถึงการไปจ่ายบิลแทน ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ
ในเมื่อเป็นน้องใหม่ที่พึ่งเข้าวงการธุรกิจเดลิเวอรี่ ดังนั้นคำถามที่เราสงสัยจึงหลีกหนีไม่พ้นเรื่องของการแข่งขันและความขัดแย้ง แต่แบงค์และฮายก็ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า
“ยังไม่มี เพราะว่าเขาจะมีลูกค้าประจำ ของใครของมันอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าเขาอาจจะไม่โอเคกับเจ้านี้ เขาก็เลยลองเปลี่ยนเจ้าดู เขาไม่มีข่มกัน ส่วนมากก็คือคุยๆกันได้หมดเลย อย่างที่บอกลูกค้าของเจ้าอื่น เราก็รับต่อเขา เราจะไม่รับตัดหน้าเขา เพราะว่าลูกค้าใครลูกค้ามัน ถ้าลูกค้าจะมาหาเราจริงๆ เขาก็จะเคลียร์กันเอง เขาก็จะบอกว่าไม่เป็นไร ถ้าลูกค้าเขาทักมาหาเรา เราก็จะทักไปหาเขา เขาก็จะบอกว่าเออไม่ต้องตอบ ปล่อยไป หรือให้ไปบอกพี่เขาก่อนเพราะเราไม่อยากข้ามหน้ากัน เราก็คุยกันตรงๆเลย มันก็เลยไม่เกิดปัญหา เพราะถ้าเกิดข้ามหน้ากันไปอันนั้นจะเป็นปัญหา แต่ถ้าเราไม่ข้ามก็ไม่มีปัญหา ถ้าเรามีเยอะเราก็แบ่งให้เขาช่วย ถ้าเขามีเยอะเขาก็แบ่งให้เราช่วย เราได้ผลประโยชน์ทั้งคู่ เขาได้ลูกค้า เราได้ลูกค้า เขาก็ไม่เสียลูกค้า เขาก็ไม่ต้องปฎิเสธ เราก็ได้ในส่วนการบริการลูกค้า เขาก็ได้เบี้ย ค่าตอบแทน”
ในแง่ของความต่าง Karen man ก็มีรวมไปถึงข้อดีที่ชูออกมาอย่างเด่นชัด
“ลูกค้าจะสั่งกับเราโดยตรง แต่ถ้าเป็นเจ้าดังเขาจะสั่งผ่านแอพ แล้วสั่งผ่านร้านคือมันจะพ่วงกัน มันจะเป็นระบบ แต่ของเรา ลูกค้าจะโทรสั่งกับเราโดยตรง มันจะดีตรงนี้ อย่างเช่น ลูกค้า ไม่มีสินค้าแบบนี้นะ เราก็จะถ่ายรูปให้ดูได้เลย ลูกค้าอยากได้แบบไหนก็สั่งเราได้เลย เราไปได้ทุกที่ บางทีเราก็วิดีโอคอลกับลูกค้าเลย ก็เหมือนลูกค้ามาเองอ่ะ”
“แม่สอดมีคนกะเหรี่ยงเยอะ ถ้าเขารู้ว่าพี่เปิดธุรกิจเดลิเวอรี่แล้วพี่เป็นกะเหรี่ยงเขาอาจจะสนับสนุนของคนกะเหรี่ยงด้วยกันเอง เราอยู่ได้เขาอยู่ได้ เราวิ่งเราอยู่ได้ ของเราไม่แพงนะ” ฮายเสริม
การวิ่งส่งของชิ้นใหญ่ ๆ จำนวนเยอะ ๆ ด้วยรถมอเตอไซค์
แบงค์เล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นให้ฟังว่า “ลูกค้าจะระบุรายการมาเลยสองหน้ากระดาษ แต่ว่าเราจะวิ่งยังไงก็ได้ให้หมดได้ไวที่สุด อย่างสองหน้ากระดาษเนี้ย เราตีค่าน้ำมันเขาแค่ร้อยเดียว ถ้าร้อยนึงแล้วบ้านเขาอยู่ไกลหน่อย ถ้าเราไปสามรอบ เราขาดทุนละ ถ้าไปสองรอบมันก็ยังมีกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าไปรอบเดียวได้ กำไรก็อาจจะเยอะ น้ำมันถังนึงมันก็วิ่งได้เยอะแหละ แต่ถ้าเราต้องวิ่งงานเดียว ๆ ซ้ำ ๆ สองสามรอบ แล้วมันไกล มันก็ขาดทุน รถของเราก็เป็นมอเตอไซต์”
นอกจากความลำบากเรื่องจำนวนชิ้นแล้ว แบงค์กับฮายยังเล่าเหตุการณ์การขนส่งถึงสินค้าที่เสียหายง่ายที่สุด และสินค้านั้นก็คือ ‘เค้ก’ จะวัดใจแค่ไหนและยากแค่ไหนที่ต้องส่งเค้กให้ไปถึงจุดหมายปลายทางโดยที่หน้าเค้กยังเหมือนเดิมกับตอนที่อยู่ในร้านด้วยการขนส่งโดยใช้รถมอเตอไซต์
“ถ้าเจ้าอื่นจะให้ส่งเค้กเขาไม่รับเลยนะเพราะมันเสียหายง่าย ล่าสุดนี่พึ่งเสียหายมาเพราะเบรกรถกะทันหัน ก็เอามากินเอง ก็ไปสั่งทำให้ลูกค้าใหม่ ถ้าสินค้าลูกค้ามีปัญหาเราก็จะซื้ออันใหม่ให้เลย เราต้องรับผิดชอบดีกว่าเราเอาของเสียไปให้ลูกค้า”
เรียกได้ว่าเป็นสินค้าปราบเซียนที่ไรเดอร์ทุกคนพึงระวัง การส่งของก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของการใช้บริการ และยังเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อให้สินค้าได้ออกเดินทางไปถึงยังจุดหมายปลายทางและต้องใช้ทักษะความสามารถในการทรงตัวของน้ำหนักสินค้าและการขับขี่รถ ทักษะในการดูแผนที่ ไหวพริบในการแก้ปัญหา รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสินค้าและหน้าที่ พี่แบงค์และพี่ฮายได้เล่าอีกหนึ่งเหตุการณ์ให้ฟัง เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความผิดพลาดที่สามารถแก้ด้วยความรับผิดชอบ
เหตุการณ์มีอยู่ว่า “ไปซื้อปูในราคาสองร้อยกว่าบาท มันลด คือเอะใจเหมือนกัน ตัวใหญ่มากเลยนะ จากราคาสี่ร้อยเกือบห้าร้อยบาท ลดเหลือสองร้อยกว่าบาท มันแปลกใจแต่ก็ไม่ได้คิดอะไร ลูกค้าสั่งมาแปดตัว แล้วทีนี้ลูกค้าก็ตกใจ ทำไมราคามันเกิน คือป้ายมันสองร้อยกว่า แต่เขาคิดให้เราสี่ร้อยกว่า เขาไม่ได้ยิงบาร์ลด ละลูกค้าขายยำปูม้าทะเล จานละร้อย ร้อยห้าสิบ แต่ปูนั้นหน่ะแค่แปดตัวปาไปพันกว่าบาท ลูกค้าขายไม่ได้ ลูกค้าต้องขายยำในราคาสองร้อยลูกค้าขายไม่ได้ เราก็เอามาเปลี่ยน ถ้าซื้อของมาไม่ถูก เราก็รับผิดชอบให้ ถ้าเปลี่ยนได้ก็จะเอาไปเปลี่ยนให้ ถ้าเปลี่ยนภายในวันนั้นได้ก็จะเปลี่ยนให้เลย”
โอกาสที่มากกว่าที่แม่สอด
แบงค์พูดถึงประสบการณ์ที่เจอระหว่างที่ทำ Karen Man และมองเห็นโอกาสที่สามารถต่อยอดทำได้มากกว่าที่แม่สอด
“ตอนนี้เราวิ่งแค่มอเตอไซต์ในแม่สอด อาจจะมีวันที่วิ่งไกล ๆ ไปแม่หละบ้าง นาน ๆ ที แล้วเห็นว่าคนส่งของไปแม่หละมันก็เยอะ แต่ด้วยความที่ว่าเขาจะส่งผ่านรถโดยสาร เพราะรถโดยสารมันถูก ชิ้นละประมาณ 40-100 กว่าบาท แต่ว่าของมันเยอะหรือน้อย แต่ถ้าให้เราไป เราคิดที 400 หนึ่งคือมันเป็นมอเตอร์ไซค์ ราคา 400 เนี้ยลูกค้าอยากจะเอาอะไรก็ได้ แล้วแต่ลูกค้าเลย ถ้าสมมติว่าวันนี้มีคนติดต่อมาสองคนแล้วของเขาไปรอบเดียวได้ เราก็จะแบ่งให้เขาคนละ 200 คิดให้เขาคนละ 200 จะไม่คิดคนละ 400 เพราะถ้าคิดคนละ 400 มันคุ้มเรามั้ย มันคุ้มนะ แต่ด้วยความที่เราเกรงใจเขาเหมือนกัน เราจะเอาเขาเยอะมันก็ยังไง เราก็เลยแบ่งให้เขาคนละ 200 มันเคยมีเหตุการณ์แบบนี้”
“ตอนนี้เท่าที่เห็น รถโดยสารลูกค้าเขามีเรื่อย ๆ ที่พี่คิดไว้ พี่จะออกรถยนต์สักคันนึง แล้วก็วิ่งแม่หละ-แม่สอด อาทิตย์ละครั้ง สำหรับคนที่อยากจะส่งของไปแม่หละ ก็เอาของมารวม ๆ กัน เราก็จะไปทีเดียวเลย ถ้าตีไว้ว่าจะไปวันเสาร์ ก็จะไปวันเสาร์วันเดียวเลย เพราะถ้าให้ไปทุกวัน แล้วของไม่เยอะก็ไม่คุ้ม อาจจะคิดเขากล่องละ 50 ถ้ากล่องเล็กก็ 20 รวม ๆ กัน อาทิตย์ละครั้งก็คุ้มค่าน้ำมันเราหน่อย ถ้าโปรเจคนี้มันไปได้ ที่คิดไว้ตอนแรกไปถึงแค่แม่หละ ต่อไปถ้าโอเคอาจจะไปถึงอุ้มเปี่ยม”
แม่หละและอุ้มเปี่ยมคือ ศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัย ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยศูนย์แม่หละอยู่ในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง ซึ่งศูนย์แม่หละห่างจากตัวเมืองอำเภอแม่สอดเป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ส่วนศูนย์อุ้มเปี่ยมอยู่ในพื้นที่อำเภอพบพระ ซึ่งศูนย์อุ้มเปี่ยมห่างจากตัวเมืองแม่สอดเป็นระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร
เราจึงถามต่อว่าแล้วทำไม Karen Man ถึงสนใจขยายธุรกิจเพื่อไปให้ถึงคนในศูนย์
“ความตั้งใจหลัก ๆ เราอยากให้บริการคนกะเหรี่ยง คนที่อยู่ในศูนย์อพยพที่เขาไม่ค่อยมีโอกาสหรือว่าเขาไม่สามารถส่งของได้ง่าย หลัก ๆ เลยคนที่อยู่ในศูนย์ หนึ่งเลยภาษาไทยเขาไม่ได้ คนที่อยู่ในศูนย์ไม่ได้มีแค่กะเหรี่ยง เป็นคนชาติพันธุ์ โอกาสเขามีน้อย น้อยมาก ถ้าเราหยิบยื่นโอกาสให้เขาได้ ให้ง่ายขึ้น พี่ก็อยากช่วยและอยากทำ เขาอาจจะขาดโอกาส แล้วก็กลุ่มคนเขาเยอะด้วย”
ฝันไกล อยากไป และต้องไป ให้ถึง
“อยากจะให้พัฒนามันไปเรื่อย ๆ ถ้าวันนึงไม่ได้ทำตรงนี้ต่อ แต่ว่ามันมีคนมาทำต่อ ก็ไม่เป็นไร พี่ก็อาจจะยกให้เขาไปเลย ถ้าเขาทำให้มันได้ดีกว่านี้อ่ะนะ ถ้ามันขยายไปต่างจังหวัด ไปแม่หละ เราก็ยินดีให้เขามาช่วยเพราะอย่างที่บอกพี่อยากให้มันไปได้ไกล”
“ไม่อยากให้ทุกคนคิดแค่ผลประโยชน์ของตัวเอง เวลาเราบริการก็อยากบริการด้วยใจแบบเต็มที่ ก็อยากให้คนที่ได้อ่านหรือคนที่วิ่งคล้าย ๆ กัน ก็อยากให้คิดค่าบริการน้อยลงหรือทำด้วยใจจริงๆ เราก็ต้องคิดถึงตอนที่เราเป็นคนสั่ง ณ ตอนที่เราเป็นคนส่ง ว่าเราต้องการแบบไหนเขาก็ต้องการแบบนั้นแหละ” ฮายกล่าวก่อน ตามมาด้วยประโยคของแบงค์สั้น ๆ ว่า “ใช้บริการเราได้ เราไม่ได้ส่งแค่ในแม่สอดนะ”
เราจบการสัมภาษณ์ด้วยระยะเวลาพอสมควรแล้วก็เริ่มต้นการสนทนาที่เป็นกันเองด้วยของว่างและเครื่องดื่มที่วางอยู่บนโต๊ะ พร้อมกับสั่งอาหารมื้อสุดท้ายของวันด้วยอาหารพม่า ระหว่างที่ทานอาหารร่วมกันไป เราก็ชวนกันเล่าเรื่องราวต่างๆ เราจบการสัมภาษณ์ด้วยความหวังกันทั้งสองฝ่าย แต่ความหวังที่เรามีเหมือนกันคืออยากเห็นคำว่า “กะเหรี่ยง” ไปได้ไกล