ตั้งแต่ปี 2563 การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ปรากฎเป็นประจักษ์ขึ้นว่าประเทศไทยอาจไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เริ่มจากพรรคอนาคตใหม่ถูกคำสั่งยุบพรรค รวมทั้งปัญหาของรัฐบาลประยุทธ์ที่ไม่สามารถจัดการกับวิกฤต Covid-19 ได้อย่างที่ควรจะเป็น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมและป้องกันโรค Covid-19 ของรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้นในทุกมุมเมือง จนนำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย การขับไล่รัฐบาลที่เป็นมรดกของการรัฐประหาร การแก้รัฐธรรมนูญประชาชน และข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สุ้มเสียงของการตบเท้าก้าวออกมาเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่จากทั่วทั้งแดนดินทั่วประเทศ ได้ประทุขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในภาคเหนือตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (วันที่สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2566) ข้อมูลจาก Mob data ระบุว่าภาคเหนือมีการจัดชุมนุมทั้งหมด 118 ครั้ง จากทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก, สุโขทัย, ตาก, อุตรดิตถ์, แพร่, พะเยา, ลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่และเชียงราย
แน่นอนว่าการก้าวออกมาเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหว หรือตั้งคำถามกับสังคมในหลายรูปแบบ ก็ค่อย ๆ เปิดบาดแผลของปัญหาให้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การศึกษา หรือแม้แต่เรื่องศิลปะเองก็เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อย ๆ แต่สิ่งที่รัฐในฐานะของอำนาจนำที่บริหารประเทศนี้มอบให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็คือ คดีความ
มีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 63 มีทั้งคดี พรบ.ชุมนุม พรก.ฉุกเฉิน และมาตรา 112 ซึ่งบางคดีก็ได้ถูกตัดสินแล้ว แต่บางคดีก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมอยู่
นอกจากการดำเนินคดียังมีการติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการโทรหา การติดตามถึงที่บ้านและสถานศึกษา สิ่งเหล่านี้มักตามมาด้วยความลำบากใจของนักกิจกรรมเองที่รู้สึกว่าถูกจับจ้องจากรัฐอยู่ตลอดเวลา
หรือนี่คือราคาและภาษีที่ต้องจ่ายในฐานะของพลเมืองในประเทศนี้?
ราคาของรัฐประหาร’57
เจมส์-ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์
เจมส์-ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ เล่าว่าตนตื่นรู้เรื่องการเมืองตั้งแต่ยังเด็ก เพราะมักจะตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอ จนได้เข้ามาเรียนที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เริ่มเข้ามาทำกิจกรรม ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงความขัดแย้งทางการเมืองก่อนที่ต่อมาจะเกิดการรัฐประหารในปี 2557
แม้ห้วงเวลานั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่การคัดค้านการรัฐประหารก็ยังคงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เจมส์ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมทางการเมืองก็คือ การที่นักศึกษาและนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกจับกุมเข้าเรือนจำในช่วงครบรอบ 1 ปีการรัฐประหาร โดยจัดกิจกรรมภายใต้สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ที่มุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้มีการปล่อยทั้ง 14 คนโดยไม่มีเงื่อนไข
โดยช่วงวัยของการเป็นนักศึกษาของเจมส์นั้นคาบเกี่ยวระหว่างรัฐประหาร จึงไม่แปลกที่เจมส์จะถูกมุ่งเป้าในการจับตามองทุกฝีก้าวจากตำรวจสันติบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งการตามไปในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัย การไปตามหาที่บ้าน หรือแม้แต่เข้าไปถามเรื่องของเจมส์กับเพื่อนที่ในคณะ
“เหมือนเวลาเราไปไหนก็จะมีคนเข้ามาชาร์จ เข้ามาคุย รู้สึกว่ามันจะเป็นการคุกคามกลาย ๆ เหมือนจะเป็นมิตรเป็นห่วงเป็นใย เหมือนเขารู้ข้อมูลเรา”
ที่ผ่านมาเจมส์โดนคดีทางการเมืองไปแล้วกว่า 10 คดีมีทั้งคดีมาตรา 116 และพรก.ฉุกเฉิน ยิ่งช่วงที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองดุเดือดช่วงปี 2563 เจมส์ก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในช่วงนั้นบ่อยครั้ง เช่น คดีการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน จากการแชร์โพส Facebook ที่เชิญชวนคนมาชุมนุมที่จังหวัดเชียงใหม่
ครั้งหนึ่งเจมส์ยังเคยถูกควบคุมตัวจากคดีมาตรา 116 กับอานนท์ นำภาอีก โดยการจับตัวทั้งเจมส์และอานนท์ มาทางเฮลิคอปเตอร์ และคุมควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่
นี่เป็นราคาที่ถูกแลกไปกับช่วงชีวิตวัยรุ่นที่ควรจะสนุกและเต็มที่กับชีวิต แต่กลับได้รับการสอดส่องชีวิตคุกคามเป็นค่าตอบแทน
“มันค่อนข้างหนักเหมือนกันสำหรับเราและเพื่อน ๆ ทุกคนในขบวนการ ถ้าเทียบกับของเราก็ยังไม่ถือว่าหนัก แต่ว่ามันก็ไม่ควรมีคนโดนคดีอะไรแบบนี้จากรัฐที่เป็นประชาธิปไตย”
ต่อว่าพ่อ มาเยี่ยมบ้าน โทรติดตามไม่ให้ห่าง ราคาของนักเรียนมัธยมที่ต้องเผชิญนอกห้องเรียน
หยิน- กมลชนก เรือนคำ นักเรียนมัธยมที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยมีความเชื่อที่ว่าตัวเองไม่อยากอยู่ในสังคมที่ไร้เสรีภาพแบบนี้ และอยากเติบโตมีอนาคตที่สดใส จึงเริ่มออกมาชุมนุมที่จังหวัดพะเยาในฐานะนักเรียนคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ในช่วงที่แฟลชม็อบได้เบ่งบานกระจายไปในแต่ละจังหวัด จากการเปิดฉากของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563
หยิน- กมลชนก เรือนคำ
แต่ใช่ว่าการมีสถานะนักเรียนของหยินจะเป็นเกราะกำบังให้ได้ หยินก็ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกคุมคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ทั้งการไปต่อว่าพ่อว่าไม่ดูแลหรือห้ามลูกไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว มาหาที่บ้านโดยอ้างว่ามาเยี่ยม หรือการโทรหาเพื่อถามข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมที่จะจัดในจังหวัดพะเยาด้วย
จนถึงปัจจุบันตัวหยินเองยังไม่ถูกดำเนินคดีใด แต่ยังมักถูกติดตามการเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารอยู่
“เราถูกกดดันให้มันเข้มแข็งขึ้น เราอัดอั้นอยู่ในความกลัว จนเราคิดแล้วว่าเราต้องเอาชนะความกลัวนั้นให้ได้ และการเมืองก็เป็นเรื่องของเราทุกคน คุณไม่สนใจการเมืองใช่ไหม แล้วสักวันการเมืองมันจะไล่ตามคุณเอง”
ราคาของศิลปะในประเทศไร้เสรี
เท็น-ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์
“ถึงมึงจะทำงานคอนเทนต์โหดสัสแค่ไหน ดังมากแค่ไหน แต่ท่าทีของศิลปินไม่ได้ Give a fuck ในเรื่องภายในประเทศ อันนี้มันก็น่าเสียดาย การมีส่วนร่วมทางการเมืองของศิลปิน”
เท็น-ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาสาขา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดบทสนทนาพร้อมเล่าว่าสาขาที่ตนเรียนอยู่สอนทั้งศิลปะและการเมืองไปพร้อม ๆ กัน ทำให้มองเห็นว่าศิลปะสามารถสะท้อนเรื่องราวทางการเมืองแต่ละยุคสมัยได้ ซึ่งรูปแบบก็แตกต่างกันไป จึงไม่แปลกที่เท็นจะใช้ศิลปะในการสื่อสารและสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ
ที่ผ่านมาการแสดงออกของเท็น ที่รวมกันแบบหลอม ๆ ในนาม artn't ก็แสดงออกมาทั้งผลงานผืนผ้าที่ไม่มีสีน้ำเงิน ที่มีข้อความจากผู้ที่มาร่วมชุมนุมจากการชุมนุมต่าง ๆ การทำงานศิลปะผ่านการ Performance Art รวมถึงการแสดงออกโดยการถือป้าย ‘ปริญญาศักดินา’ จนทำให้เท็นถูกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกสอบวินัยนักศึกษาอีกด้วย
ซึ่งเท็นเองก็ยังคงมีคดีมาตรา 112 จากผลงานผืนผ้าที่ไม่มีสีน้ำเงิน ที่ผลงานนี้ถูกผู้ใหญ่ในคณะวิจิตรศิลป์ท่านหนึ่งเก็บใส่ถุงดำ เพราะมองว่านี่ไม่ใช่งานศิลปะ คั่งค้างอยู่ รวมทั้งยังโดนแจ้งความข้อหาบุกรุกหอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจาก เท็นและเพื่อน ๆ ต้องการเข้าไปใช้พื้นที่หอศิลป์เพื่อจัดแสดงงานศิลปะของสาขาที่เท็นเรียนอยู่ ซึ่งเป็นงานประจำปีของสาขาอยู่แล้ว หลังจากที่มีการขออนุญาตใช้สถานที่หอศิลป์นี้แล้วหลายครั้งแต่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ยังคงไม่อนุญาตให้เข้าใช้ จึงเกิดเหตุการณ์ตัดโซ่ที่หอศิลป์ขึ้น
“เขามองว่า เขามีคำสั่งปิด ขออนุญาตหรือยัง พื้นที่ของตัวเองหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้ ไม่ได้มาดูว่าภูมิประเทศ ถ้ามึงมาดูมึงก็จะรู้ว่าไอ้ตึกมีเดียมันอยู่ในโซนนี้ จะทำงานจะทำอะไรก็ไม่ได้ ถ้ามึงมาล็อครั้วตรงนั้น ซึ่งนักศึกษาก็จ่ายค่าเทอม”
ราคาของคดีความ
ทะ-นาย ดิน (นามสมมติ)
“ห้ามพูดเรื่องการเมือง ณ ที่แห่งนี้ เพราะที่นี่ไม่มีคดีการเมือง”
ทะ-นาย ดิน (นามสมมติ) ได้บอกกับเราว่าเป็นคำพูดที่เคยในยินจากในศาล ซึ่งถือว่าเป็นประโยคที่ยังคงค้างอยู่ในความทรงจำเสมอ ทะ-นาย ดิน มองว่าหากประเทศนี้มีเพียงคดีทางอาญาเพียงอย่างเดียว ก็คงจะเป็นแบบคำพูดข้างต้น คดีการเมืองเป็นคดีที่รัฐดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาล ไม่ได้เป็นเพียงคดีที่มีโทษทางอาญา แต่มันคือคดีทางการเมือง เพราะผู้ที่ถูกดำเนินคดีล้วนแต่เป็นผู้ที่ออกมาแสดงความคิดความเห็นในทางที่แตกต่างไปจากรัฐบาล ด้วยการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
ในปี 2566 ยังคงมีคดีทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 50 กว่าคดี นับตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มมีการชุมนุมครั้งใหญ่ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งคดีโดยส่วนใหญ่จะเป็น พรก.ฉุกเฉิก และคดีมาตรา 112 ซึ่งแนวโน้มในภาคเหนือโดยส่วนใหญ่ คดี พรก.ฉุกเฉินศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งแตกต่างจากคดีมาตรา 112 ซึ่งจะมีความยากกว่า แต่ในปัจจุบัน พรก.ฉุกเฉิน ถูกยกเลิกไปแล้ว คดีพรก.ฉุกเฉินจึงไม่มีเพิ่ม แต่อาจจะเป็นการนำ พรบ.ชุมนุมกลับมาใช้แทนก็เป็นได้
“ความยากง่ายไม่ได้อยู่ที่วิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนตามกฎหมาย แต่ทว่าการใช้ดุลยพินิจที่มีอำนาจอยู่เหนืออีกที ส่งผลให้มีการตีความกฎหมายที่เน้นไปทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน”
คำถามซึ่งไร้คำตอบ
นอกจากนี้เรายังได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังศาลจังหวัดเชียงใหม่และสำนักอัยการจังหวัดเชียงใหม่ เราได้หนังสือตอบกลับจากศาลจังหวัดเชียงใหม่มีความว่า
“ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วตามแนวทางการปฏิบัติราชการ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้อยู่ในฐานะอันเหมาะสมที่จะเข้าร่วมโครงการตามที่เสนอ จึงขออนุญาตไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว”
ในส่วนของสำนักอัยการจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่มีการตอบกลับใด ๆ
จากการตอบกลับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ อาจทำให้เราตั้งคำถามได้ว่าศาลอาจไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนไม่สามารถเคลียร์ข้อสงสัยหรือตอบคำถามในประเด็นที่ประชาชนสงสัยได้ ไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วนั้นศาลกำลังรับใช้ใครอยู่ อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ประชาชนจริงหรือไม่ ระบบยุติธรรมยังคงหลงเหลือความยุติธรรมในกระบวนการของรัฐไทยอยู่หรือเปล่า
แม้ในปีนี้ 2566 ทุกคนอาจรอคอยการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ก็ยังมีประชาชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนยังถูกจองจำอิสรภาพ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าปัจจุบัน (23 กุมภาพันธ์ 2566) มีประชาชนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 3 คน ได้แก่
คทาธร (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกจับในกรณีมีระเบิดไว้ในครอบครอง ในขณะเดินทางเข้าร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 กลายเป็นผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมายาวนานที่สุดในรอบปี มากกว่า 300 วัน ส่วนถิรนัยและชัยพร จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 ถูกจับกุมกรณีพกพาระเบิดปิงปองไว้ในครอบครอง หลังทั้งสองคนได้รับสารภาพในชั้นพิจารณาคดี ศาลอาญาได้มีพิพากษาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ลงโทษจำคุก 6 ปี ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา และไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ในขณะที่ ตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม—อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมอิสระ ยังคงอดอาหารประท้วงเป็นวันที่ 37 (24 กุมภาพันธ์ 2566) เพื่อให้ได้สิทธิในการประกันตัวทุกคน
เวลาที่ผ่านไป ความหวังใหม่ที่ผ่านเข้ามา ความเปลี่ยนแปลงที่มีสิ่งต้องแลก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก อนาคต แม้แต่เวลาที่เราได้แบ่งให้กับมัน เพื่อให้ความหวังใหม่ได้ผลิบานขึ้นมาอีกครั้ง การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อ แม้พวกเขามีสิ่งที่จะต้องแลกต้องสูญเสีย ต่างก็คิดว่าครั้งหนึ่งก็ยังคงคุ้มค่าที่จะได้ลงมือทำอะไรบางอย่าง บางคนอาจจะมองว่าสิ่งเหล่านี้ดูเป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ แต่ใครจะรู้ว่าสิ่งเล็ก ๆ จากคนตัวเล็กอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นก็เป็นได้