การหลอมรวมรัฐในพื้นที่ดินแดนล้านนากำลังก่อตัวขึ้น เป้าหมายสำคัญที่สุดของรัฐสยาม คือ การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่าเป็นการสร้าง “ความเป็นไทย” หากแต่ตอนนั้นสยามยังมีมุมมองต่อล้านนาในลักษณะเป็นอื่น เหตุเพราะไม่มีความใกล้ชิดผูกพัน อีกทั้งสื่อสารกันด้วยภาษาที่ไม่เข้าใจ และลึก ๆ นั้น ยังมองล้านนาเป็นคนที่แตกต่าง ไม่เหมือนกับสยาม ดังนั้นการที่จะเข้ามาปกครองพื้นที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการควบคุมในทุกด้าน รวมไปถึงการบังคับให้เข้าโรงเรียนสอนหนังสือไทย และสื่อสารด้วยภาษาไทย  โดยท้ายที่สุดแล้วก็เพื่อเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างสำนึกร่วม สลัดทิ้ง “ความเป็นอื่น” 

สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย

จากบทความรัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417 - 2476 ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีนโยบายสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติ โดยการปลูกฝังความเป็นชาตินิยมให้เกิดขึ้นกับราษฎรมณฑลพายัพ พระองค์ทรงใช้วิธีการทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งวิธีสร้างความรู้สึกชาตินิยมทางตรง ได้แก่ การออกกฎหมายบังคับใช้พระราชบัญญัติแปลงชาติ พ.ศ. 2495, พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495, พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456, พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461 และพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 วิธีการทางอ้อม ได้แก่ การเผยแพร่งานเขียน และการสร้างสัญลักษณ์แทนตัวพระองค์ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองเสือป่า การแจกพระบรมรูป และธง โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับการจัดตั้งขึ้น ในทุกจังหวัดโดยใช้โรงเรียน และศาลารัฐบาล เป็นสถานที่ในการส่งผ่านความคิด ทั้งนี้การประดับพระบรมรูป และธงชาติตามสถานที่ราชการต่าง ๆ ก็เพื่อให้ราษฎรที่มาติดต่อราชการและนักเรียน ที่เข้ารับการศึกษาเคยชินกับพระบรมฉายาลักษณ์ ของกษัตริย์สยาม และ ตระหนักถึงอำนาจสูงสุดในการปกครองว่ามิใช่อยู่ที่เจ้านายพื้นเมืองอีกต่อไป

ทั้งนี้โรงเรียนสอนหนังสือไทยได้กลายเป็น เครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนคนล้านนา ให้รู้สึกถึงความเป็นไทยมากขึ้น ประกอบกับการใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 และพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 เพื่อบังคับให้เด็กทุกคนได้เข้าเรียน โดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน หลักสูตร เนื้อหาวิชา และตำราเรียนได้รับการควบคุมโดยกระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งนอกจากจะสอนให้มีความรู้ขั้นพื้นฐานแล้ว ยังปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับรัฐประชาชาติ ความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเชื่อฟังต่ออำนาจ รัฐสมัยใหม่ ที่สำคัญในตำราเรียน ได้แสดงถึงความพยายามของรัฐบาลสยามในการลบภาพ ความเป็นลาวออกจากคนล้านนาโดยอธิบายว่า คนล้านนานั้นเป็นคนไทยเช่นเดียวกันกับคนสยาม

ตัวอย่างจากหนังสือแบบเรียนประวัติการของไทย (ประถม 4) ที่แสดงให้ถึงหลักสูตรการเรียนการพยายามแทรกความเป็นไทย โดยเหตุที่ว่าต้องพูดภาษาไทย และนับว่าเป็นคนไทยทั้งสิ้นนั้น เนื้อหาบางส่วนในหนังสือกล่าวว่า

 “…ส่วนพวกลวะละว้าเป็นพวกลาวเดิม เดี๋ยวนี้อยู่ตามป่าตามเขาในมณฑลที่เป็นลาวเดิม ส่วนไทยนั้นมีหลายพวกคือ ไท ไทย ผู้ไทย พวน ฉาน เฉียง เงี้ยว ลื้อ เขิน เหล่านี้ล้วนแต่พูดภาษาไทยทั้งนั้น จึงนับได้ว่าเป็นพวกไทย ชาวไทยในมณฑลพายับ อุดรก็เป็นพวกไทยที่สืบเนื่องมาแต่ตอนเหนือด้วยกันทั้งนั้น…”

นอกจากนี้ในโรงเรียนยังจัดให้มีกิจกรรมพิเศษ คือ สวดคำนมัสการและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งกระทรวงธรรมการยังให้มีการประดับพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และธงชาติประจำโรงเรียนอีกด้วย เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอำนาจสูงสุดในการปกครองและสำนึกในความเป็นชาติร่วมกัน

เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ   

สิ่งที่น่าสนใจคือ วิชาความรู้เรื่องเมืองไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 รัฐบาลมีแนวคิดให้เด็กรู้จักบ้านเมืองของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ไฉนจึงได้ตั้งหลักฐาน เป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นได้เพื่อจะได้เกิดความรักชาติบ้านเมือง และคิดบำรุงชาติบ้านเมือง โดยตั้งตัวไว้ให้เป็นพลเมืองดี จะเห็นได้ว่าหลักสูตร และเนื้อหาในแบบเรียนที่รัฐสยามสร้างขึ้น นอกจากมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังความรู้ที่ เกี่ยวกับรัฐประชาชาติ ความรักภักดีต่อสถาบันชาติ และพระมหากษัตริย์ การรับรู้เชื่อฟังต่ออำนาจรัฐสมัยใหม่ รวมทั้งความเป็นมาของชาติไทยแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐที่จะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงความแตกต่างทางด้านภูมิภาค เชื้อชาติ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมย่อยของภูมิภาคโดยเฉพาะหัวเมืองประเทศราช

กระจกใบหนึ่ง สามารถสะท้อนภาพในอดีตมาจนถึงกาลปัจจุบัน  กล่าวคือในการสร้างความเป็นชาตินิยมในอดีต มีหลักสูตรตำราเรียนที่แฝงไปด้วยความรักชาติอย่างลึกซึ้งสุดหัวใจ เราสามารถตายเพื่อชาติได้ เพราะเลือดเนื้อเราคือไทย ซึ่งส่งผลมาถึงปัจจุบันอย่างน่าเหลือเชื่อ อาจเป็นเพียงแค่ความคิดของเราที่มองสิ่งรอบข้างอย่างพินิจลึกลงไป กลับเห็นถึงค่านิยมที่ปลูกฝังตั้งแต่สมัยประถมศึกษา ตอนที่เรายังถักเปียสองข้าง เพลงที่คุ้นหูอย่าง ค่านิยม 12 ประการ จัดทำโดยกองดุริยางค์ทหารบก เป็นสัญญาณของการใกล้เวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ และไม่น่าแปลกใจที่เนื้อหาของเพลง เริ่มต้นข้อแรกด้วย ‘หนึ่งมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’  หรือแม้กระทั่งการเคารพธงชาติ ที่เราอาจลืมการตั้งคำถามของการทำสิ่งนี้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทำตามกันมาอย่างช้านาน

การกลืนให้กลายเป็นไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ เรืองศรี อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/ ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ เรืองศรี อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่าในประวัติศาสตร์ล้านนาสิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ ในช่วงที่สยามพยายามที่จะเปลี่ยนผู้คนในแถบนี้ จากที่เคยมีหลายชาติพันธุ์ หลายภาษา

รัฐสยามนั้น ให้คนล้านนา ใช้และสื่อสารเป็นภาษาไทยกลาง แน่นอนว่ามันเป็นการลดทอนคุณค่าของคน

พูดง่าย ๆ ก็คือ “ที่คุณยังไม่ผ่านการศึกษา เพราะคุณกำลังเอาภาษาไทย มาผนวกการศึกษา ผนวกกับโรงเรียน แล้วพยายามจะบอกว่า ถ้าคุณเรียนหนังสือ คุณมีความรู้ คุณก็ต้องพูดภาษาไทยกลางได้”

ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงระบบราชการ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากประวัติศาสตร์ล้านนา 

ในสมัยนี้ คนจะต้องรู้ ต้องศึกษาให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจนกลายมาเป็นคนในปัจจุบันนั้น มันมีที่มาที่ไปอย่างไร มันไม่ใช่ว่าเราเปลี่ยนมาสู่โลกาภิวัตน์ เราเลิกพูดภาษาถิ่นแล้ว มันมีประวัติศาสตร์ มีความสัมพันธ์ และมีการครอบงำ

การกลืนกลายความเป็นชาติ มันมีการลดทอนหลายอย่าง มันไม่ใช่แค่เรื่องของภาษาอย่างเดียว จะเห็นได้ว่าการครอบงำจากส่วนกลางไม่ได้มีแค่เรื่องภาษา มีทั้งเรื่องของศาสนา  กฎหมาย ธรรมเนียม ข้อบังคับ มีการออกพระราชบัญญัติสงฆ์ออกกฎระเบียบข้อห้ามมากมาย ถึงได้เกิดข้อพิพาทกันตลอดเวลา

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในด้านเปลี่ยนผ่านตรงนี้จึงสำคัญ ท้ายที่สุดจะทำให้เราเข้าใจว่า คนที่เคลื่อนมาจนถึงเป็นประชากรทุกวันนี้ มันมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ต้องการจะบอกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ล้านนา มันไม่ได้หมายความว่าให้คุณย้อนไปศึกษาอันไกลโพ้นโดยที่มองไม่เห็น ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญกับชีวิตกับเรา ซึ่งภาษาก็เป็นส่วนนึง แต่ก็ยังมีมิติด้านล้านนาอีกมากมาย”

เสรีภาพที่ไม่เคยรู้จัก แต่เคยได้สัมผัส

ถึงแม้ความคิดในด้านเสรีภาพ อาจไม่ใช่ประเด็นที่พูดถึงในสมัยนั้น แต่แน่นอนว่าผู้คนในสมัยนั้นต่างรู้สึกเหมือนถูกกระทำ ถูกย้ำยี และเอาเปรียบ ถ้าถามว่าทำไมถึงคิดว่าคนรู้สึก เพราะตลอดช่วงเวลาที่สยามเข้ามาสถาปนาอำนาจเหนือกว่า ก็มีทั้งคนต่อต้าน ไม่ยอม ซึ่งแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เห็นว่า คนล้านนา ไม่ได้ยอมอยู่ภายใต้อำนาจง่าย ๆ การต่อต้านในที่นี่ ไม่ได้ปรากฎออกมาผ่านรูปแบบความรุนแรงเพียงอย่างเดียว เฉกเช่นการก่อกบฏ แต่รวมไปถึงการไม่ยอม และปฏิเสธ หมายความว่าผู้คนก็พยายามจะเก็บรักษาสิ่งที่เขาจะถูกทำลาย เช่น คัมภีร์ ใบลาน ตำราของภาษาล้านนาไว้ โดยวิธีการเอาซ่อนในพื้นที่ปลอดภัย อีกทางหนึ่งคือ หากมีความรู้อยู่กับตัว ก็สามารถคัดลอก หรือเขียนขึ้นมาใหม่ เสมือนว่า “ถ้าคุณจะทำลายอักษรภาษาล้านนา คุณก็มาฆ่าฉัน” เพราะฉะนั้น เราจะพบว่าคนที่ต่อต้าน หรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำเหล่านี้ เขามีวิธีการแสดงออกอย่างหลากหลายในการไม่ยอมรับด้านนโยบาย หรือการกระทำของรัฐสยาม ซึ่งไม่ได้จะเล่าผ่านความรุนแรงเพียงด้านเดียว” บางครั้งการไม่ยอมรับด้านนโยบาย หรือการกระทำของรัฐ ก็อาจปรากฎผ่านรูปแบบ เช่น การเอาตำราต่าง ๆ ไปซ่อน พอถึงเวลานึงที่สามารถนำคัดลอก เขียนใหม่ และส่งต่อกันต่อไปเรื่อย ๆ ภาษาล้านนานั้น จึงไม่ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง

เจ้าคน นายใคร       

ตั้งแต่เด็กจนเติบโตเรามักคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “เรียนสูง ๆ โตมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน”  ทุกครั้งที่ได้ยิน ก็มักเกิดความสงสัยผุดในหัวเต็มไป  เกิดคำถามที่ว่าทำไมต้องเรียนให้สูง แล้วจะได้เป็นเจ้านายของใคร พอมาเชื่อมโยงเรื่องของชาวล้านนากับการถูกบังคับให้เรียนโรงเรียนสอนหนังสือไทย สันนิษฐานได้ว่าอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่คนในอดีตจะมีหน้าที่ การงานอาชีพที่ดีต้องเข้าสู่ระบบข้าราชการ และเริ่มมีพื้นที่ทางสังคม แทบจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มก้อนทางอำนาจ รัฐราชการเข้ามามีอิทธิพลกับความฝันของผู้คนในสมัยนั้น 

“คุณต้องรับราชการ ถึงจะมีเกียรติ“ หากเรามีการศึกษาที่ดี ก็สามารถเป็นข้าราชการได้ และเป็นเหตุจำเป็นที่คนล้านนาต้องเรียนรู้ภาษาไทยด้วยบริบททางสังคมที่บีบบังคับให้เรากลายเป็นไทย

ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี

การส่งเสริมการเรียนหนังสือไทยจึงเหมือนมีจุดประสงค์ เพื่อผลิตคนพื้นเมืองเข้าสู่ระบบราชการ  โดยรัฐบาลสยามเชื่อว่าการจัดสอนภาษาไทยแทนที่ ภาษาพื้นเมืองจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และลดความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างคนไทย และคนพื้นเมือง ทั้งนี้การเข้าควบคุมสถาบันสงฆ์ควบคู่ไปกับการจัดการศึกษาเป็นสิ่งจําเป็น เพราะสยามตระหนักดีว่าพระสงฆ์มีอิทธิพลในการปลูกฝัง ความคิดให้กับราษฎร ประกอบกับแผนการ จัดการศึกษาตามหัวเมืองจำเป็นต้องใช้วัด และพระสงฆ์

การเปลี่ยนแปลงที่อาจหล่นหายไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ เรืองศรี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  การกลับมาของภาษา มันควรจะนำไปสู่การต่อยอดมิติทางวัฒนธรรมมากกว่าการเรียนภาษาอย่างเดียว เช่น ตอนนี้ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ก็เปิดสอนภาษาตัวเมือง หรือความรู้สึกที่กลัวว่าจะหายไป การพยายามจะถ่ายทอดไปให้คนรู้มากขึ้น แต่ปัญหาคือภาษามันจะไม่หาย ต้องมีการใช้งาน ต้องคำนึงว่าภาษาที่เราเรียนสามารถต่อยอดไปสู่เรื่องอะไรได้อีกบ้าง อย่างสมมุติว่าเราเรียน เรารู้หมดเลย แต่ไม่ได้ต่อยอดจากภาษาเหล่านี้ไปสู่สิ่งอื่น มันก็หายอยู่ดี หรืออย่างอู้เมือง “มันต้องทำให้สามารถลื่นไหลในชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่ว่าเฉพาะเพื่อการอนุรักษ์และการรักษา ทำให้มันเป็นธรรมชาติ เป็นชีวิต สามารถที่จะสื่อสาร สามารถสลับสับเปลี่ยนภาษาได้ ไม่จำกัดจะต้องตีตราตีกรอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และการใช้งาน เพราะภาษามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามบริบท”

คนเมืองที่สมบูรณ์แบบ

 

                                                “ เฮาเป๋นคนเมือง หยังมาอู้เมืองบ่ได้ 

                                                  เฮาเป็นคนเมือง เฮาบ่อู้แล้วไผจะอู้

                  ( เราเป็นคนล้านนา ทำไมถึงพูดภาษาเหนือไม่ได้ เราเป็นคนล้านนา เราไม่พูดแล้วใครจะพูด )

สมศักดิ์ จันทร์น้อย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย/ ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี

ประโยคดังกล่าวถูกเอ่ยขึ้นโดย สมศักดิ์ จันทร์น้อย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ผันตัวหลังวัยเกษียณสู่การเป็นครูสอนภาษาล้านนาที่ตัวเองมีความรัก และความรู้ จากการสังเกตพบว่าผู้ที่มาเรียนที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร มีอายุที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เด็กประถมไปจนถึงผู้สูงอายุ สมศักดิ์กล่าวว่า “บางรุ่นก็มีคนต่างชาติอย่างญี่ปุ่น ฝรั่ง ที่นี้ต่างมีความหลากหลายทั้งอายุ และเชื้อชาติ สุดท้ายก็คงอยากให้มาเรียนกันเยอะ ๆ เพื่อสืบทอดภาษาของบรรพบุรุษ มันจะมาหายในรุ่นเราไม่ได้”

“เขากลืนเรา ไม่ให้คนรุ่นหลังได้รู้ภาษาเมือง  ถ้าใครสอนเขาก็จับ เขาต้องการจะให้ปกครองได้ ให้เป็นไทย สิ่งนี้ก็ทำให้ภาษาเราสูญหายไปเยอะ”

นี่คงเป็นภาพสะท้อนที่เหลือเพียงให้เราได้ตั้งคำถามถึงการปกครองของรัฐ โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือผนวกล้านนา ให้กลายเป็นสยาม      

อาจพูดได้ว่า ภาษาล้านนาในปัจจุบัน กลับเหมือนถูกกลบฝังไปตามกาลเวลา หากแต่จะมีการฟื้นฟู นั่นควรเริ่มต้นตั้งแต่พื้นที่ในครอบครัวที่รดน้ำพรวนดินต้นกล้า เฉกเช่นลูกหลานให้ได้ฝึกพูดภาษาเหนือมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยการบีบบังคับทางสังคม ผู้ปกครองจึงเลือกที่จะสอนให้พูดภาษาไทยกลาง เพื่อเตรียมความพร้อมอนาคตของต้นกล้าต้นนั้น จะได้เจริญงอกงามเข้าไปสู่โรงเรียนได้อย่างไร้อุปสรรค ทั้งการเรียน การสนทนากับครู หรือเพื่อน ๆ จะเป็นไปได้ไหมที่ในอนาคตจะมีเพิ่มหลักสูตรภาษาล้านนาในรั้วโรงเรียน และมหาลัยในภาคเหนือทั้งหมด จึงมีคำถามต่อมาที่ว่าแล้วรัฐจะคิดไปในทิศทางเดียวกับเราหรือไม่ แต่ตอนนี้ ความเป็นล้านนาเสมือนได้ถูกลืมเลือนเป็นเพียงภาพจำ ภาษาถิ่นทำให้เรารู้สึกแตกต่าง และจะสลัดทิ้งความรู้สึกนี้ได้ด้วยการพูดภาษาไทย เราจึงจะเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ และไร้ซึ้งความสงสัยอีกต่อไป เพราะ “คนไทย ต้องพูดภาษาไทย”

ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี

ที่มา : 

รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417 -2476 เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว 

เปิดแผนยึดล้านนา เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว มติชน

เสวนา เปิดแผนยึดล้านนา เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว

รัชกาลที่ 6 ทรงใช้ลัทธิชาตินิยมลบภาพ “ลาวล้านนา” ผ่านการศึกษา จันทรรัตน์ คงทัพ

ระบบการศึกษา เครื่องมือผนวก “ล้านนา”ให้กลายเป็นไทยในสมัยรัชกาลที่6

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

เนื้อหาแนะนำ

เนื้อหาล่าสุด