ภาพ: นลินี ค้ากำยาน

‘ช้างม่อย’ ชื่อถนนที่คุ้นหูสำหรับนักท่องเที่ยว จากชุมชนเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ สู่ชุมชนการค้าและถนนศูนย์รวมกิจการของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ถนนเส้นดังกล่าวเปรียบเสมือนประตูเชื่อมผู้คนไปสู่กาดหลวง ตลาดขนาดใหญ่อายุมากกว่า 100 ปี จึงทำให้ถนนเส้นนี้มีรถผ่านไปมาอย่างไม่ขาดสาย สองข้างทางต่างเต็มไปด้วยอาคารที่พัก ร้านค้า อาคารแบบยุโรป อาคารเรือนไม้และเรือนแถว โรงแรม หรือแม้กระทั่งแหล่งบันเทิง ซึ่งยังคงเอกลักษณ์โครงสร้างอาคารเดิมที่ยืนหยัดบอกเล่าเรื่องราวจากอดีตส่งต่อมาถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นย่านสร้างสรรค์ที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดเชียงใหม่และถือเป็นอีกสถานที่ที่ควรมาเยือนให้ได้สักครั้ง


เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง หรือ จิ๋ม ผู้ประกอบการร้าน ‘เชียงใหม่ฮาร์ท’

เมื่อลมหนาวเริ่มพัดมาทักทาย ก้าวสู่เดือนสุดท้ายของปี หลาย ๆ ที่ ในเมืองจึงถูกประดับประดาด้วยต้นคริสต์มาสและไฟหลากสีสัน สำหรับคนต่างถิ่นอย่างฉันแล้ว เมื่อได้ชื่นชมบรรยากาศของถนนช้างม่อยที่ถูกตกแต่งในช่วงเทศกาลแบบนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเชียงใหม่มีมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหลและเป็นเอกลักษณ์มาก แต่ใครจะคิดว่า การได้คุยกับ เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง หรือ จิ๋ม ผู้ประกอบการร้าน ‘เชียงใหม่ฮาร์ท’ ที่เต็มไปด้วยสินค้า Handmade หรือสินค้าที่ทำด้วยมืออย่างกระเป๋า เสื้อ หมวก และของตกแต่ง ที่มีลวดลายรูปช้างและนกฮูกบนสินค้าอย่างเป็นเอกลักษณ์ จะทำให้ฉันมองช้างม่อย ย่านสร้างสรรค์แห่งนี้เปลี่ยนไป

ฉันตัดสินใจเริ่มต้นบทสนทนากับคนที่ไม่เคยรู้จักกันเลย ด้วยการอู้กำเมืองหรือพูดภาษาเหนือ แรก ๆ เราทั้งสองต่างพูดกันไม่กี่ประโยค แต่เมื่อสามารถทำลายกำแพงความอึดอัดลงแล้ว เรียกได้ว่าพูดกันจนไม่มีช่วงพักเลยก็ว่าได้ การพูดคุยกับป้าจิ๋ม ทำให้ฉันนึกถึงแม่ เวลาสงสัยหรือไม่เข้าใจอะไร ก็สามารถถามออกไปได้ โดยมีอีกฝ่ายคอยตอบ


ร้าน ‘เชียงใหม่ฮาร์ท’/ ภาพ: นลินี ค้ากำยาน

ป้าจิ๋ม เล่าว่าตัวเองเป็นคนเชียงใหม่ที่ไม่ได้อยู่ย่านช้างม่อยมาตั้งแต่เกิด แต่ก็ย้ายมาเช่าอยู่ที่นี่ประมาณสิบกว่าปีแล้ว เขาเล่าต่อพลางชี้นิ้วไปที่ถนน ซึ่งมีรถสัญจรอยู่หน้าร้านเพื่อให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงว่า แต่เดิมถนนเส้นนี้เป็นเพียงทางผ่านในเมืองที่มีคนอาศัยอยู่กันอย่างเงียบ ๆ แม้จะมีร้านค้าอยู่บ้าง แต่ช่วงประมาณ 6 โมงเย็น ร้านค้าเหล่านั้นก็จะเริ่มปิดร้าน

ชุมชนช้างม่อยมีชีวิตอยู่มาอย่างยาวนาน ถ้าเล่าย้อนรอยอดีตจะแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงสมัย ในช่วงสมัยแรก คนช้างม่อยมีวิถีชีวิตอยู่กับวัดและบ้าน ต่อมามีการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ ตึกแถว อาคารห้างสรรพสินค้าอย่างหนาแน่นตามเส้นทาง ส่งผลต่อการขยายตัวของชุมชนย่านเศรษฐกิจ ทำให้ย่านดังกล่าวพลุกพล่านไปด้วยผู้คนและกิจการหลากสีสัน แต่แล้วช้างม่อยก็กลายเป็นเพียงพื้นที่ทางผ่านของเมือง บางอาคารถูกขายทิ้ง บ้างก็เป็นได้แค่ที่เก็บของ จนช่วงสมัยปัจจุบัน สภาพความซบเซาของถนนช้างม่อยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งจากการเข้ามาลงทุนกิจการรายย่อยในสถานที่ต่าง ๆ

เวลาเปลี่ยน เมืองก็เปลี่ยน

ช้างม่อยถูกปรับเปลี่ยนจากชุมชนเล็ก ๆ ในย่านเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ พัฒนาเป็นย่านที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจและการคมนาคมเป็นหลัก ตามแผนการผลักดันสู่การเป็นเมืองมรดกโลกและเป็นเขตชุมชนอนุรักษ์เมืองเก่าตามผังเมือง การเติบโตจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไร้ทิศทาง ทำให้ช้างม่อยถูกเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการอยู่อาศัย สภาพแวดล้อม และการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ตามพลวัตของเมือง

เมื่อกาลเวลาผ่านไป อาคารทรงเก่าแก่และเรื่องราวในช้างม่อยก็ค่อย ๆ เลือนหายไป คนนอกพื้นที่จำนวนไม่น้อยต่างเข้ามาเปิดธุรกิจของตัวเอง ช้างม่อยจึงเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา

“เดี๋ยวนี้ก็จะมีแต่คนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาเช่าแล้วเปิดร้านหรืออาศัยอยู่เยอะ ค่อนข้างที่จะหลากหลาย มาจากต่างถิ่นก็มี บางบ้านเจ้าของเขาก็ขายไปเป็นคนใหม่เรื่อย ๆ แต่ก็มีคนรักษาบ้านไว้ก็คือเจ้าของคนเดิม แต่ปล่อยตึกให้คนอื่นเช่าแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น”

การอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาของต่างถิ่นอย่างไม่ขาดสายและการใช้ชีวิตของคนในชุมชนที่ต่างไป ทำให้สภาพของย่านช้างม่อย ซึ่งมีทั้งรูปแบบเมืองทันสมัยและเมืองดั้งเดิมปะปนอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ประสบปัญหาหลาย ๆ ด้านที่ยังขาดการจัดการอย่างเหมาะสม

สถานบันเทิงที่ส่งเสียง

ฉันนั่งตั้งใจฟังเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และตัดสินใจถามถึงผลกระทบจากการพัฒนาที่ว่าออกไป ป้าจิ๋มที่นั่งทำงานของตัวเองไปด้วยระหว่างพูดคุย ถึงกับหยุดการกระทำนั้น แล้วเล่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ย่านแห่งนั้นให้ฟังอย่างยาวเหยียด

ชาวบ้านในชุมชนย่านช้างม่อย ได้รับความเดือนร้อนจากสถานบันเทิงหลาย ๆ แห่ง แต่ละคืนจะมีลูกค้าจำนวนมากนำรถมาจอดไว้ตามหน้าบ้านและริมถนนช้างม่อยยาวเป็นกิโล โดยส่งเสียงดังรบกวนควบคู่ไปกับเสียงดนตรีของร้านตลอดคืน บางครั้งก็มีเหตุทะเลาะวิวาทกัน และปัญหาความสกปรกจากการปัสสาวะและอาเจียนจากลูกค้าที่มึนเมา

“ตอนนั้นเละเทะมาก ยุคนั้นในเขตเมืองเก่าทั้งหลายก็ได้รับผลกระทบเรื่องเดียวกัน คนที่ย้ายมาจากที่อื่น เขาคิดว่าเช่าที่แล้ว เขาจะทำอะไรก็ได้ ความสมดุลมันไม่มี เพราะฉะนั้นชุมชนแต่ละชุมชนก็เลยมารวมตัวกัน มีการทำป้ายติดบนถนนเลยว่าไม่เอาผับเอาบาร์ พอเรื่องมันดังเข้าสื่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เคลียร์พื้นที่หลาย ๆ ที่ ปัญหาเลยเบาไป”

ใครจะอยู่ ใครจะไป

เมื่อพูดคุยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสักพัก ฉันก็ได้รู้ว่าป้าจิ๋มเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ‘เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่’ ที่ขับเคลื่อนและเป็นปากเป็นเสียงให้คนในชุมชนมาหลายปี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาเกี่ยวกับสถานบันเทิงที่เข้ามาเปิดในชุมชน ทำให้แต่ละชุมชนเริ่มมีการรวมตัวกันมากขึ้น โดยการรวมตัวกันนั้นทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่มองว่าเป็นการขับเคลื่อนวิธีการแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่จะคอยประสานงานร่วมกับคนในพื้นที่ชุมชน ให้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อตกลงของชุมชนร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชนระหว่างผู้พักอาศัยกับผู้ประกอบการ

“พอรู้จักกัน เราก็ใช้วิธีชวนกลุ่มผู้ประกอบการมาคุยกันว่าจะอยู่ร่วมกันยังไง ก็มีการประชุมเดือนละครั้งบ้าง ตอนนี้ก็พยายามทำเป็นกติกาย่านหรือมาตรการที่จะควบคุมพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหา ลักษณะของการที่เราใช้พูดคุยกัน ช่วยดูแลกัน มันอาจจะดีกว่าการแจ้งตำรวจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าสามารถควบคุมและผลักดันนโยบายของรัฐกับกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ในพื้นที่ได้ ทำให้ปัญหาสถานบันเทิงที่รบกวนชุมชนในเวลากลางคืนยังมีอยู่บ้าง แต่ก็ดีขึ้นจากก่อนหน้านี้ ซึ่งชุมชนควรได้รับการผลักดันให้สามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองของตนเองได้

สิ่งที่ควรจะเป็นคือ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนช่วยในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน (ความเงียบสงบ) โดยตั้งกฎ ข้อบังคับ วางมาตรฐาน หรือดำเนินการทางกฎหมาย และใช้กฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบการสถานบันเทิง ในขณะเดียวกันบรรดาผู้ประกอบการก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและเคารพสิทธิของผู้พักอาศัยคนอื่น ๆ ในย่านด้วยเช่นกัน


ภาพ: นลินี ค้ากำยาน

ปลุกย่านให้มีชีวิตด้วยความคิดสร้างสรรค์

‘ป้าจิ๋มชอบปลูกต้นไม้เหรอคะ’ ประโยคที่ฉันเอ่ยขึ้นระหว่างการสนทนาเมื่อสังเกตเห็นต้นไม้เล็ก ๆ หลายต้นถูกวางไว้อยู่หน้าร้าน ตอนแรกก็เข้าใจว่าที่นำต้นไม้เหล่านั้นมาวางไว้เพราะต้องการใช้ประดับร้านเท่านั้น แต่พอป้าจิ๋มตอบกลับมาทำเอาฉันคาดไม่ถึงกับคำตอบเลยทีเดียว

“อย่างหน้าบ้านเราที่เอาต้นไม้มาวาง ต้นพวกนี้วางได้เกือบ 2 ปีแล้ว ที่เอามาวางก็คือกันไม่ให้คนขึ้นมาจอดรถบนฟุตบาท เพราะฟุตบาทกับถนนมันอยู่ระดับเดียวกัน เขาก็เอารถมาจอดหน้าบ้านเราเลย เราก็เลยเอาต้นไม้มาวาง มันคือการแก้ปัญหาเมือง แทนที่จะเอารั้วเหล็กมาตั้ง แต่เอาเป็นต้นไม้จะไม่ดีกว่าหรอ มันคือการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์”

ปัญหาบางอย่าง เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา การเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ แก้ปัญหาเล็ก ๆ จากนั้นค่อยขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงกว้างเรื่อย ๆ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้

“มีหลายเรื่องที่เรามองว่าถ้าแต่ละบ้านทำในส่วนของตัวเองมันก็สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ จะเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ทำให้เป็นเสน่ห์ของเมืองได้ ถ้าทำจุดเล็ก ๆ สำเร็จ มันก็สามารถขยายไปสู่อะไรที่ใหญ่ขึ้นได้ คิดเรื่องเล็ก ๆ ที่คนทำได้ เมื่อสิ่งที่เล็กเข้มแข็ง เดี๋ยวอันที่ใหญ่ก็จะปรับเข้าหาเราเอง”

ในขณะเดียวกันเหล่าผู้ประกอบการรายย่อยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยการพึ่งพาลูกค้าและนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ต้องอาศัยจินตภาพของย่านเป็นจุดเด่นในการขายและดำเนินกิจการ ซึ่งการนำวัฒนธรรมของพื้นที่มาใช้ในการนำเสนอสินค้าและบริการไม่ควรลืมคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเมืองประวัติศาสตร์ จึงจะนำไปสู่การเป็นชุมชนวัฒนธรรมและย่านเศรษฐกิจร่วมสมัย

ที่ผ่านมาเชียงใหม่รับเอาแต่ความเจริญเพื่อเพิ่มกระแสความนิยมการท่องเที่ยว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราก็อยู่ได้ด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริง ๆ แต่การสนับสนุนทิศทางเมืองแบบบนลงล่างจากภาครัฐ ขาดการวางแผนการพัฒนาเมืองอย่างเหมาะสม ส่งผลทำให้เมืองถูกละเลยอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของตัวเอง

“เราต้องตีความคำว่าย่านสร้างสรรค์ให้ดี ว่าจะสร้างสรรค์ในประมาณไหน ถ้าเราอยากรักษาอัตลักษณ์ของเมือง สิ่งหนึ่งที่จะต้องเก็บไว้คือวิถีชีวิตของคน ไม่ใช่ว่าอยากได้นักท่องเที่ยวก็เปิดบาร์หลาย ๆ ที่ ชาวบ้านก็จะเดือดร้อน อยู่ไม่ได้ บ้านเราจะคิดแค่ว่าคนจะเข้าเชียงใหม่กี่คนและจะได้เม็ดเงินเข้าเชียงใหม่เท่าไหร่ แต่เรามองว่าเขาคิดผิด ต้องพยายามดึงอะไรที่เป็นของเก่าแล้วเอามาพัฒนาโดยที่ไม่ให้เสียรากเหง้า บางทีเรานึกถึงการท่องเที่ยวมากเกินไป เอาใจเขามากเกินไป จนลืมตัวตนของตัวเอง”

อ้างอิง

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

เนื้อหาแนะนำ

เนื้อหาล่าสุด