“ครูต้องเป็นต้นแบบ ครูต้องเป็นแม่พิมพ์ ครูต้องเป็นพระคุณที่สาม ครูต้องเป็นแสงเทียนส่องสว่างนำทางให้กับเด็ก” ดร.ออมสิน จตุพร สาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่ดูเหมือนภายในใจมีอะไรบางอย่างที่ไม่ได้เปิดเผย “คำพวกนี้เป็นวาทกรรมที่สังคมไทยสร้างขึ้นมา”
ถ้าดูจากสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมหรือใน Social Media เอง อย่างภาพยนตร์ ละคร ก็จะพบเห็นว่า ครูต้องเป็นผู้ที่ต้องทำงานในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ทำงานตลอด 24 ชม. ทำงานตลอดเวลาเพื่อ “เด็ก”
แม้อาชีพครูจะเป็นอาชีพที่ต้องใช้เสียงเพื่อให้ความรู้ อบรมบ่มนิสัยให้กับเด็ก แต่ก็มีครูจำนวนหนึ่งที่ใช้เสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้เรือจ้างลำใหญ่ที่ชื่อว่า “การศึกษา” หันหัวลำไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ครูได้สอนตรงตามวิชาเอกที่ตนเองได้ร่ำเรียนมา การลดภาระงานอื่นที่กดทับและทับซ้อนภาระงานสอนของครู การเพิ่มสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับครูในพื้นที่ห่างไกล แต่กลุ่มครูที่ออกมาเรียกร้องนั้นกลับมีเพียง “กลุ่มครูจำนวนหนึ่ง”
แล้วทำไมครูส่วนใหญ่ถึงไม่ใช้เสียงเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง? ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ครูส่วนใหญ่ล้วนต้องการความเปลี่ยนแปลง เพียงแต่มีสาเหตุบางอย่างที่ไม่กล้าใช้เสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลง
เรื่องที่ครูไม่ควรยุ่ง
อาชีพครูเป็นหนึ่งในอาชีพที่ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “การเมือง” จะสังเกตเห็นได้จากกรณีที่ครูออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือบนโลกโซเชียลมีเดีย มักจะได้รับผลกระทบในด้านลบจากสังคมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการถูกสั่งห้ามพูดถึงประเด็นทางการเมือง การประณามจากผู้คนในสังคม หรือถูกต้นสังกัดสอบสวนและวินิจฉัยว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
หรือแม้กระทั่งข่าวใหญ่ที่ต้นหนเรืออย่างสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “สพฐ.” ประกาศให้บุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน หรือ ครูผู้สอน จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง เช่น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ หรืองดแสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกไปในที่สาธารณะ
ครูที่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง?
สังคมไทยมักมีภาพฝันเกี่ยวกับคุณครูในอุดมคติ ว่าต้องเป็นคุณครูที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือ “วางตัวเป็นกลางทางการเมือง” โดยหารู้ไม่ว่าความหมายของคำดังกล่าวถูกตีความผิดเพี้ยนให้กลายเป็นเรื่องปกติไปโดยปริยาย ดังที่ อรรถพล ประภาสโนบล อดีตครูและกลุ่มพลเรียน เห็นว่า
“ในแง่หนึ่งครูต้องเป็นผู้ให้บริการด้านการศึกษาแก่นักเรียน โดยไม่กีดกั้น โดยไม่เลือกปฏิบัติกับนักเรียนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเรา อันนี้มันเป็นหลักประกันว่า ถึงแม้คนทุกคนจะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ต้องได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม เสมอภาคกัน แต่ทว่าในอีกความหมายหมายถึงกลไกทางอำนาจของผู้กดขี่ที่พยายามทำให้ครูอยู่ในร่องในรอยเพื่อให้มั่นใจว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นอยู่นั้นจะไม่ถูกท้าทายหรือสั่นคลอนผ่านการสอนหรือการศึกษา จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการพูดถึงครูต้องเป็นกลางทางการเมือง ที่มาพร้อมกับสิ่งต่อท้าย นั่นคือ เป็นกลางที่ต้องสอนหรือปฏิบัติในสิ่งในสิ่งที่พวกเขากำหนดไว้ เช่น การเป็นคนดีที่จงรักภักดีต่อชาติ ซึ่งแท้สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ความรู้ทางการ กฎระเบียบ ต่างล้วนสัมพันธ์กับผลประโยชน์และอำนาจแทบทั้งสิ้น ความเป็นกลางในความหมายนี้ จึงเป็นการปิดปากหรือควบคุมให้ครูยอมรับสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่กดขี่อยู่ เปลี่ยนให้ห้องเรียนอยู่ภายใต้วัฒนธรรมความเงียบ
“ในรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยของปี 60 มาตรา 34 ระบุไว้ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทุกคนสามารถมีสิทธิและเสรีภาพในการมีจุดยืนที่แตกต่างได้ในการมองเรื่องการเมือง เลือกพรรคการเมืองที่ชอบ แต่วาทกรรม “ครูต้องเป็นกลางทางการเมือง” กับรัฐธรรมนูญมันขัดแย้งกัน ดังนั้นวาทกรรม “ครูต้องเป็นกลางทางการเมือง” จึงไปลดทอนพลังอำนาจและความเป็นตัวตนของครู ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิและเสียงในการอภิปรายจุดยืนทางการเมืองที่ตัวเองยืนอยู่ การที่ครูพยายามปกป้องสิทธิมนุษยชนของเด็ก หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับครูเอง” อ.ออมสิน บอกเล่าผลกระทบของวาทกรรม “ครูต้องเป็นกลางทางการเมือง” ที่แทรกซึมเข้าไปในวัฒนธรรมของโรงเรียน
ถ้าครู “อยู่ไม่เป็น”
การทำงานของแทบทุกอาชีพทำงานกันเป็นองค์กร อาชีพครูก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานอย่างครูในห้องหมวด ครูในโรงเรียน รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาอย่างหัวหน้าหมวดสาระวิชาหรือผู้อำนวยการสถานศึกษา (ผอ.) ซึ่งในการทำงานร่วมกัน การมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปย่อมเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าความคิดเห็นดังกล่าวไป “ขัดหูขัดตา” ใครบางคน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
คือระบบของโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นแบบอำนาจนิยม หรือระบบคำสั่งแบบ Top-Down ลงมา ถ้าสมมติโรงเรียนนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แท้จริง การที่ครูคนหนึ่งออกมาตั้งคำถามถึงการตัดสินใจของผู้บริหารของโรงเรียนก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น ถ้าครูคนหนึ่งออกมาพูดเรื่องงบประมาณที่ไม่ได้จัดสรรสำหรับเด็ก ก็อาจจะทำให้ผู้บริหารของโรงเรียนรู้สึกไม่พอใจ และครูคนนั้นก็อาจจะถูกเพ่งเล็งหรืออาจจะถูกลงโทษได้ หรือถ้าครูคนนั้นออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกฎระเบียบที่ล้าหลัง หรือปกป้องสิทธิของนักเรียน ครูคนนั้นก็อาจจะถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ซึ่งอาจกลายเป็นแกะดำภายในโรงเรียน และหมดไฟในการทำงานได้ แต่สิ่งเหล่านี้มันคือการต่อสู้ทางการเมืองในระดับเล็ก เพื่อที่จะกำหนดว่า การศึกษาคืออะไร ทรัพยากรควรจัดสรรอย่างไร ” อรรถพล กล่าวถึงกรณีตัวอย่างถ้าครูคนนั้นไม่สามารถ “อยู่เป็น” ภายในโรงเรียน”
การศึกษา = การเมือง?
การเมืองกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในวงการสถานศึกษา เพราะอาจจะเป็นมีดอันแหลมคมที่สร้างความแตกแยกร้าวฉานภายในโรงเรียน แต่ในมุมมองกลับกัน การศึกษาเองก็เป็นไม้ที่ค้ำให้การเมืองของไทยยืนอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน “ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์สภาพบริบทในสังคมไทยไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน การศึกษาก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอ เช่น วิกฤตการณ์เมืองไทยในปี พ.ศ.2556 - 2557 บุคลากรทางการศึกษาก็เข้าร่วมการประท้วงชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก หรือการรวมตัวของสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยเพื่อเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการให้กับบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นการเมืองและการศึกษาล้วนมีความเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน” อ.ออมสินกล่าวถึงสภาพบริบทของการศึกษาไทยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
ยุคที่ครู “ใช้เสียงน้อยลง” แต่นักเรียนกลับ “ส่งเสียงดังขึ้น”
ตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ.2562-2563 เป็นต้นมา กลุ่มนักเรียนและเยาวชนคนรุ่นใหม่เริ่มมีความสนใจการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมการชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในชั้นเรียน หรือแม้กระทั่งการออกมาตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ของโรงเรียน ในทางกลับกันครูมักจะรับบทเป็นผู้ร้ายในสายตาของนักเรียนเสมอ เช่น การห้ามปรามไม่ให้นักเรียนทำกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ การข่มขู่ การหักคะแนนจิตพิสัยเมื่อเด็กมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากตน เป็นต้น
คุณครูตื่นนอน นักเรียน“ตื่นตัว”
ย้อนกลับไปในสมัยที่ผู้เขียนเป็นนักเรียน การเมืองสำหรับเด็กอายุ 15 – 16 ปีก็คงเป็นแค่เรื่องของการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานนักเรียน ส่วนประวัติศาสตร์การเมืองไทยในหนังสือตำราเรียนก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ค่อยมีเรื่องให้พูดมากนัก
แต่ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่มีส่วนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับรัฐที่ค่อนข้างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่เป็นเยาวชนอย่าง “เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH” หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจัดตั้งจากนักเรียนเอง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนกลุ่มสายสามัญอย่าง “นักเรียนเลว” หรือกลุ่ม “ฟันเฟืองประชาธิปไตย” ที่เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมของนักเรียนสายอาชีพ
ทำไมนักเรียนหรือเยาวชนในปัจจุบันถึงมีความสนใจการเมืองมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา?
“มันเกิดจากโซเชียลมีเดีย (Social Media) ที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ตรงนี้เป็นจุดแข็งสำคัญในการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เพราะว่าในยุคที่ผ่านมาไม่ถึง 10 ปี ผู้คนสามารถรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ จากการใช้ Facebook, Twitter หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถอัปเดตข่าวสารได้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันมันคือผลผลิตของคนรุ่นใหม่ที่เกิดจากภาวะการเสื่อมสลายของอุดมการณ์ของรัฐชาติหรือชาตินิยม เช่น กลุ่มรอยัลลิสต์-มาร์เก็ตเพลส (ตลาดหลวง) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจของชนชั้นนำไทยเริ่มสั่นคลอนลงมาถึงระดับคนทั่วไปค่อนข้างมาก” อ.ออมสินกล่าวถึงผลกระทบของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความ(ไม่)รู้ต่าง ๆ มากขึ้นในขณะเดียวกัน อรรถพลได้เล่าถึงปรากฎการณ์การตื่นรู้ทางการเมืองของเด็กในช่วงไม่กี่ปีมานี้
“เด็กมีการรับรู้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่แค่ภายในชั้นเรียน เด็กตื่นเต้นในประเด็นสังคมที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องสนุกและท้าทายสำหรับเขาเพราะไม่มีค่อยมีใครสอนเรื่องพวกนี้ให้กับเขา ในตำราเรียนมันไม่ได้พูดถึงเรื่องพวกนี้ พวกเขาจึงมีการศึกษาและสืบค้นข้อมูลออกไปต่างหาก แล้วยิ่งเป็นเรื่องของประเด็นทางการเมืองเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีการถกเถียงเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”
ห้องเรียนที่ “แตกต่าง” แต่ไม่ “แตกแยก”
ห้องเรียนหนึ่งห้องแต่มีนักเรียนอยู่เต็มห้อง นักเรียนแต่ละคนมีรูปร่างหน้าตาลักษณะผิวพรรณที่แตกต่างกัน นักเรียนแต่ละคนเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน นักเรียนแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน นักเรียนแต่ละคนล้วนแต่มีความเชื่อ ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
เราในฐานะครูคนหนึ่ง ควรจะสร้างบรรยากาศของห้องเรียนยังไงให้น่าอยู่ และเราควรจะเป็นครูแบบไหน?
“ครูต้องมีความรู้ ความรู้ในที่นี้หมายถึงความรู้ด้านเนื้อหา ความรู้เท่าทันเหตุการณ์โลก ความรู้ด้านสภาพชีวิตของมนุษย์ ความรู้เรื่องด้านปรากฏการณ์ทางสังคม ครูจะต้องไม่อยู่ในกะลา ไม่ใช่กะลาที่หมายถึงอนุรักษ์นิยมอย่างเดียวนะ แต่หมายถึงครูต้องอ่านหนังสือ ต้องทันต่อเหตุการณ์ทุกอย่าง และต้องมี Mindset ที่เป็นสากล และอย่ามองว่านักเรียนที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกับเราเป็นขั้วตรงข้ามกับเรา” อ.ออมสิน กล่าวถึงลักษณะครูในอุดมคติที่ควรมีในสังคม
“อย่างแรก คือ ครูต้องทำให้ห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ที่สามารถสนทนากันได้ ทำให้นักเรียนปลอดภัยที่เขาจะพูด หรือทำให้ครูรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดประเด็นต่างๆ พูดง่าย ๆ คือห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะพูด ไม่ต้องหวาดระแวง สิ่งนี้คือบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยที่สร้างได้จากห้องเรียน อย่างที่สอง คือ ครูไม่จำเป็นต้องสอนหนังสือตามแบบเรียนที่รัฐให้เพียงเสมอไป ครูมีอำนาจที่ที่จะสร้างสรรค์และตีความหลักสูตรด้วยการหยิบจับประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ความหลากหลายทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ ระบบกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม มาสอนในห้องเรียนได้เช่นกัน ซึ่งเหล่านี้จะทำให้นักเรียนได้พบเจอ เรียนรู้ สัมผัส เรื่องราวของผู้คนจากคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่กำลังเผชิญปัญหาเหล่านั้นอยู่ ซึ่งอาจเหมือนหรือต่างไปจากเขา และพาให้เขากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าสังคมแบบไหนที่เขาอยากเห็น อะไรคือหลักการที่สังคมควรมีปฏิบัติต่อกัน เป็นต้น อรรถพล กล่าวถึงสภาพห้องเรียนที่ควรจะเป็นในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองในยุคปัจจุบัน
แด่คุณครูและการศึกษาไทยในวันข้างหน้า…
ถึงแม้ว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันอาจจะมีข้อบกพร่องบางอย่างที่กำลังรอการแก้ไข ซึ่งก็อาจจะยังไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่ผู้เขียนเชื่อว่า คุณครูหลายคนที่กำลังเห็นข้อความนี้ ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น
“คุณครูคือผู้ปฏิบัติการในการเปลี่ยนแปลงระบบโรงเรียน ซึ่งคุณครูจะต้องตระหนักรู้ว่าตนเองมีสิทธิ มีเสียง มีอำนาจ มีตัวตนในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ โดยครูจะต้องร่วมมือและทำงานกันเป็นกลุ่ม และครูจะต้องตระหนักรู้ว่าสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่น มันเป็นสิ่งที่นำไปสู่การสร้างสังคมที่มีความยั่งยืน ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม ความเสมอภาคได้ ครูจะต้องกล้าที่จะทำงานด้านการศึกษาที่มีความสัมพันธ์กับมิติการเมือง และกล้าที่จะแสดงจุดยืนทางการเมือง เพราะการกระทำเหล่านี้มันไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้จริง” อ.ออมสิน กล่าว
“การเป็นครูมันไม่ได้มีแค่สอนหนังสือมีวันหยุดแล้วจบ แต่ครูสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมของประเทศให้มีความยุติธรรมและเป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งถ้าการเมืองของประเทศเป็นประชาธิปไตยมากพอ เราก็สามารถพูดเรื่องต่าง ๆ ในห้องเรียนได้ เราก็จะไม่ต้องกลัวว่าถ้าเราพูดเรื่องบางอย่างแล้วจะถูกลงโทษ ดังนั้นถ้าการเมืองเป็นประชาธิปไตย มันก็เอื้อให้เกิดการศึกษาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยเหมือนกัน”อรรถพลกล่าวส่งท้าย
มาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่าอาชีพ “ครู” เป็นอาชีพ ๆ หนึ่งที่ต้องใช้เสียงหน้าห้องในการอบรมเมล็ดพันธ์ุอย่าง “นักเรียน” ให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า แต่ครูทุกคนไม่ควรหลงอย่าลืมว่า ครูเองก็มีสิทธิมีเสียงในการต่อสู้กับความอยุติธรรม การเรียกร้องสิทธิให้กับตนเอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีในวันข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิง
- การศึกษาไทยในอดีต
- เบื้องหลังคนทำ “หนังครู” จากเรื่องจริงสู่ภาพยนตร์โฆษณาที่คอยตอกย้ำคนไทยให้ระลึกบุญคุณที่ยิ่งใหญ่ของ ครู
- สพฐ. สั่งสอบครู โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นการเมือง อ้าง ยุยงปลุกปั่น ไม่เป็นปชต.แท้จริง
- นโยบายนายกรัฐมนตรีเร่งพัฒนาการสอนประวัติศาสตร์ระดับชาติ-ท้องถิ่นให้ทันสมัย
- เชียงใหม่ จัดชุมนุม มอชองัดข้อเผด็จการ ชู 3 นิ้ว ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง
- โต้โซเชียล ครูง้างมือ ไม่ได้จะตบเด็ก ทำความเข้าใจ เชิญไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียน
- กลุ่มครูขอสอน บุกกระทรวงศึกษาธิการ ทวงพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนให้เด็ก พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรี