“จับตา เฝ้าระวัง ตื่นตัว กล้าหาญ รอเป็นฝ่ายตั้งรับ เท่ากับรอเป็นถังขยะให้เขา การตื่นตัวไม่ใช่การตื่นตูม เพราะเราคงไม่ต้องการเป็นเหมือนกระต่ายกับเต่าที่หลับใหลไปในความประมาท งานนี้ถ้าผู้นำชุมชนหรือชาวบ้านไม่ยอมออกมาเคลื่อนไหวเลย จะเสียใจภายหลัง ข้อเท็จจริงที่ว่า เราต้องกำจัดขยะ แต่การมีบ่อขยะขนาดใหญ่ กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอย่างรุนแรงยากที่จะหลีกเลี่ยง เป็นการขยะแบบรวมศูนย์ ซึ่งไม่เกิดความยั่งยืน ตรงกันข้ามขยะโดยชุมชน ทำให้คนได้เรียนรู้ปัญหาที่อยู่ใกล้ตัว ร่วมกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น การแยกขยะให้ได้ในระดับครัวเรือน ลดการใช้พลาสติก การจัดการขยะแบบรวมศูนย์ ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ที่ไม่ต้องรับผิดชอบในขยะของตัวเอง แล้วใครจะยอมเป็นผู้เสีลสละ อยู่ร่ำไป..” 

กลุ่มรักษ์แม่ทา - คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ 

 

ความสองแง่สองง่ามของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ

‘โรงไฟฟ้าขยะก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ เปลี่ยนขยะเปล่าประโยชน์เป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาดยั่งยืน’ (นิรนาม)

นับแต่ปี 57 ที่ประเทศไทยเกิดรัฐประการครั้งที่ 13 นำโดยคณะ คสช. ภายใต้ช่วงเวลาแห่งความมืดมน ว่างเปล่า อลหม่าน คณะ คสช. อุ้มชูประเด็น นโยบายการจัดการขยะ เป็นวาระใหญ่แห่งชาติ ควบคู่มาพร้อมกับ Roadmap ว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของประเทศ พ.ศ. 2559 - 2564 ที่มอบให้กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นคนกำกับดูแล รวมถึงยังกำหนดนโยบายแปรรูปขยะและวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงาน และสร้างความสำคัญต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โดยนำขยะมาแปรสภาพเป็นพลังงานการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อเป็นพลังงานทดแทนและแก้ปัญหาขยะล้นเมืองอย่างยั่งยืน (ณิชชา, 2562)

ฟังดูแล้วก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่กลิ่นความไม่ชอบมาพากลก็โชยขึ้น เมื่อจู่ ๆ คสช. ก็ออกคำสั่ง 3/2559 และ 4/2559 ที่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าขยะแบบผิดรูปผิดร่าง ผิดฝาผิดฝังชนิดที่ว่าไม่ต้องคำนึงถึงกฏหมายผังเมือง และชุมชนใกล้เคียงเลยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ประกาศจากกระทรวงทรัพยากรฯ  ที่เอื้อให้การสร้างโรงไฟฟ้าขยะทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โยงไปถึงวาระผลประโยชน์ซ่อนเร้น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้เอกชนผูกขาดบางราย มีสิทธิโกยกอยผลกำไรจากการทำโครงการไฟฟ้าขยะอย่างอิ่มหนำสำราญ

โครงการโรงไฟฟ้าขยะเดินทางมาเสาะแสวงหาเทียบเคียง ที่ทางเหมาะเจาะ อย่างแม่น้ำไหลผ่าน ห่างไกลชุมชนพอควร ที่หน้าบ้านของเขา  “ลุ่มน้ำแม่ทา จังหวัดลำพูน” ผืนดินอุดมสมบูรณ์ หลากหลายชนิดพรรณนานา อาหาร และปลา พวกเขาเติบโตและมีชีวิตด้วยผืนดินและแม่น้ำทาสายนี้ 

 


เครดิต : เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำทา 

 


เครดิต : เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำทา 

 

“ลำน้ำแม่ทามีความยาวเกือบ 98 กิโลเมตร มีขุมขนกว่า 200 กว่าชุมชนที่ใช้ประโยชน์พึ่งพาลำน้ำแม่ทา การสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่รัศมีห่างแค่ 20 กิโล  ก็นับว่าเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากชุมชน แต่สารพิษ ควันพิษ มันถูกเผา ถูกปล่อยออกมาทุกวี่ทุกวัน 24 ชั่วโมง ไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องมาถึงหน้าบ้านเราเข้าสักวัน” 

- เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา 

 

ไม่ช้า ไม่นาน มันต้องมาถึงหน้าบ้านเราสักวัน…

คำพูดของพี่นุ - วิษณุ ดวงปัน จากเครือข่ายนิเวศน์นิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา กระตุกจิตใต้สำนึกบางอย่างตอนเรายังเด็ก ที่มองว่าขยะเป็นเรื่องไกลตัวเสมอ ใช้เสร็จก็ทิ้ง เดี่ยวไม่ช้าไม่นานก็มีคนมาจัดการ หลังจากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว

ทว่าขยะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว  เฉกเช่นเดียวกับเรื่องการเมือง ที่มองไม่เห็น แต่หายใจอยู่รดต้นคอ

จากการประเมินผลและติดตามการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ปี 2565 (รายงานจากกระทรวงมหาดไทย)  ลำพูนได้รับแชมป์เรื่องการจัดการขยะดีเด่นและยั่งยืน 4 ปี ติดต่อกัน พ่วงด้วยโครงการดี ๆ อีกมากมายเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน อย่าง

2561 - โครงการ No Foam ลำพูนเมืองสะอาดปราศจากโฟม 

2562 - โครงการ คนลำพูนร่วมใจ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก หูหิ้ว 

2563 - กองทุนแลกเปลี่ยนขยะไร้ค่าให้ต่อชีวาผู้ป่วย เพื่อนำรายได้ไปซื้อเครื่องช่วยหายใจแก่ผู้ป่วยยากไร้ 

การได้รับแชมป์เรื่องการจัดการขยะดีเด่นต่อเนื่องกัน 4 ปี ก็เป็นเครื่องหมายยืนยันแล้วไม่ใช่หรือ ว่าจังหวัดลำพูนสร้างความตระหนักรู้ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน สู่จังหวัด ตำถามที่น่าสงสัยคือ จังหวัดทจัดการขยะดีเด่นแบบนี้ จะต้องการโรงไฟฟ้าขยะไปเพื่ออะไร พวกเขาสร้างขยะรายวันไม่เท่าจำนวนขยะตามกำลังผลิตที่โรงไฟฟ้าต้องการด้วยซ้ำ

 

“โรงไฟฟ้าเผาขยะต้องนำเข้าขยะ 550 ตันต่อวัน แต่ขยะมูลฝอยที่จังหวัดลำพูนเรามีอัตราการการทิ้งแค่ 144 ตันต่อวัน นั้นหมายความว่าเขาต้องเอาขยะจากจังหวัดข้างเคียงเพิ่มให้มันครบ คำถามคือท้ายที่สุด เราจะแก้ปัญหาเรื่องขยะ หรือมีวาระซ่อนเร้นที่ภาครัฐไม่กล้าให้ความชัดเจนกับเรา การจัดการขยะมูลฝอยด้วยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและรวมศูนย์ มันไม่ได้ส่งเสริมการแก้ปัญหาระดับครัวเรือน อย่างการแยกขยะที่ครัวเรือน การรีไซเคิล หรือการบริโภคที่ยั่งยืน” 

เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา 

 

ไม่มีใครทนเห็นความอยุติธรรมเกิดบนหน้าบ้านของตัวเอง กระแสลุกฮือกันของชุมชนแม่ทาและขุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง เครือข่ายภาคประชาชน ต่อสู้ทั้งในเชิงข้อมูลยื่นหนังสือและชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในนาม ‘เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา’  การรวมของผู้คนที่ไม่อาจทนเห็นบ้านของตัวเองถูกทำลาย

โรงไฟฟ้าขยะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการรวมตัวกันของพลังภาคประชาชนอย่าง ‘เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา’ ? เราตั้งคำถาม

เมื่อนับจบตบทบกันไป ย่างเข้าปีที่ 8 แล้วที่เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ทา และพลังของภาคประชาชนโอบกอด ช่วยเหลือบ้านของกันและกัน การผลักดันส่งเสียงถึงภาครัฐ ยกระดับการเคลื่อนไหว จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ‘ลำพูนเสวนา สัญจร ฟังเสียง คนทาขุมเงิน’  ขับเคลื่อนประเด็นเชิงนโยบาย การทำงานขับเคลื่อนสร้างพลังแก่เยาวชน อย่าง เยาวชนลุ่มน้ำทาที่จัดนิทรรศการแสดงภาพวาดถึงข้อเรียกร้องที่ไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าขยะ  และ Voice of Youth of Change - พื้นที่ส่งเสียงของเยาวชนลุ่มน้ำทา 

 


เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา - ภาพวาดโดยเยาวชนลุ่มน้ำทา 

 


เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา

 

เรียกได้ว่าทำทุกอย่างเท่าที่ประชาชนคนหนึ่งจะใช้สิทธิที่ตนพึงมีได้อย่างเต็มที่ แต่ภาครัฐก็ไม่ฮือไม่อือ คล้ายกับตำร้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างไรอย่างนั้น

แม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ ทางรัฐจะบอกว่า ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างโครงร่างใด ๆ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ การขัดเจนและความตรงไปตรงมาของการดำเนินก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ท่าทีของภาครัฐไม่สามารถทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจได้เลย 

 

“มันเลยต้องทำแบบนี้ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลกันต่อไป” 

(ไม่ประสงค์ออกนาม) , กล่าวมาด้วยเสียงแห่งความหวังถึงอนาคตของบ้านเกิด 

 

ลมหายใจไม่มีม่านกั้นพรมแดนทางมลพิษ

จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตอนนี้รวมกันอยู่ที่ 27 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็นตัวเลขง่าย ๆ เลย คนไทยเราสร้างขยะถึงวันละ 1.14 กิโลกรัมต่อคนและต่อวัน (สถาบันวิจัยสภาพแวดล้อม จุฬา,2565) ลองคิดสภาพเล่น ๆ ดูว่า ขยะเอ่อล้นทั่วเมืองกองเป็นภูเขาอย่างในหนังเรื่อง หมานคร (2004) ชีวิตจริง มันคงไม่มีใครขึ้นไปทำเท่ห์บนกองขยะ มีบทสทนาลึกซึ้ง ชิค คลู แบบนั้น

มันเป็นความสับสนอลหม่านใจ ว่า โรงไฟฟ้าขยะที่ดูเหมือนจะแปรสภาพขยะล้นเมืองให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า กลับดูมีทีท่าในระยะยาวที่อาจส่งผลเสียในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพของชุมชนบริเวณใกล้เคียง หรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อากาศ และน้ำ  แม้นกลไกการเปลี่ยนเชื้อเพลิงขยะเข้าสู่การผลิตไฟฟ้า ได้มีการออกแบบมาอย่างดี และต้องคัดเลือกขยะที่พร้อมเป็นเชื้อเพลิง และมีคุณสมบัติที่ตรงต่อการเผาไหม้สมบูรณ์ (เผาไหม้ที่ไม่หลงเหลือแก๊ซเสีย หรือแก๊ซพิษใด ๆ) แต่เราจะวางใจได้อย่างไร ว่าระหว่างนั้นจะไม่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นเลย

การคัดแยกขยะมูลฝอยให้ผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และหากคัดแยกขยะพลาสติก PVC (Poly Vinyl Chloride) อย่างเช่นพวก ท่อ PVC ผ้าร่ม สลากใสขวดน้ำ ออกไม่หมด  การเผาสารที่มีองค์ประกอบทางคลอรีนพวกนี้มันจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ที่มีชื่อว่า ‘ไดออกซิน’ และยังเกิด ‘กรดเกลือ’ ที่ค่อย ๆ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจหากสูดดมเข้าไป ความเป็นพิษต่อระบบประสาท ความผิดปกติในทารก ส่งให้อัตราการตายของทารกในช่วงตั้งครรภ์สูง มีผลถึงการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติของทารก บางรายอาจรุนแรงถึงการเกิดมามีรูปร่างผิดปกติ นี้ยังไม่นับรวม ระบบบำบัดคุณภาพอากาศ ระบบบำบัดคุณภาพน้ำจากโรงงานก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำแม่ทาสาธารณะ 

 


แผนที่พื้นที่ได้รับผลกระทบภายในรัศมี 5 และ 10 กิโลเมตร จากโรงไฟฟ้าขยะแม่ทา 

 

โรงไฟฟ้าจะตั้งห่างไกลจากชุมชนเกือบ 20 กิโลเมตร และรับขยะมูลฝอยแค่เฉพาะพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง อย่าง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย แต่สายน้ำแม่ทา อากาศที่ชุมชนลุ่มน้ำแม่ทาใช้ประโยชน์และหายใจเข้าไปไม่ได้มีม่านกั้นทางพรมแดนมลพิษเหล่านี้  และมันยังคงเป็นคำถามที่ว่า 

สรุปแล้ว โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะนั้น มีไว้เพื่อพิทักษ์หรือปล่อยมลพิษสู่ชุมชนกันแน่?

หากมองภาพรวมถึงสถานการณ์ประเทศไทยปัจจุบันต่อปัญหาเรื่องการจัดการขยะ นอกเหนือไปจากเรื่องขยะมูลฝอยบริโภครายวัน ประเทศไทยเผชิญวิกฤตขยะติดเชื้อจากช่วงสถานการณ์โควิด ขยะอิเล็คทรอนิกส์  และวิกฤตขยะข้ามชาติเรื่องการนำเข้าขยะพลาสติกเป็นต้น ๆ ของโลก ในช่วง 2560 - 2561 หลังจากจีนออกนโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลผลม เมื่อเทียบเคียงดูตัวเลขใกล้ ๆ จาก Roadmap การจัดการขยะพลาสติก 2562 - 2570 ไทยนำเข้าขยะพลาสติกเป็นอับดับ 2 ของโลก 8.1 % รองจากมาเลเซียที่นำเข้าถึง 15.7 % แม้เป้าหมายในช่วง 8 ขวบปีนี้ ไทยพยายามกวดขันเรื่องการจัดการขยะ อย่าง ลด/เลิกใช้ บรรจุภัฑณ์พลาสติก 7 ประเทศ

  1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 
  2. ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ 
  3. ไมโครบิตจากพลาสติก 
  4. ถุงหูหิ้วความหนา <36 ไมครอน 
  5. กล่องโฟมบรรจุอาหาร 
  6. แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียว ความหนา <300 ไมครอน 
  7. หลอดพลาสติก 

เรารู้สึกว่า เมื่อลมหายใจไม่มีม่านกั้นพรมแดนทางมลพิษ ขยะของเธอและฉัน ต่างเป็นของเราทุกคนทั้งหมด ดังนั้นเรื่องขยะของคนชุมชนแม่ทาก็เป็นเรื่องของเราทุกคนไม่ต่างกัน….

ความหวัง ภาพฝันถึงปัญหาทรัพยากร 

“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ” 

จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน , ป๋วย อึ้งภากรณ์ 

 

จู่ ๆ ระหว่างฟังเสียงของพี่นุ - วิษณุ ดวงปัน ที่ตัวแกย้ายส้มโนครัวเรือนจากตัวอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มาแต่งงาน  ใช้ชีวิตคู่กับพี่หญิง- พฤติพร จินา เกิดเครือนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา มีลูกตัวน้อยวัยกำลังน่ารักน่าซนอยู่ 1 คน เราถามแกว่า ภาพหวังและภาพฝันของผู้คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสียงของประเด็นทรัพยากรคืออะไร  แกมองไปที่ลูกของแก และตอบคำถามสั้น  ๆ เพียงแค่ว่า ‘ก็เพราะคนนี้ล่ะมั้ง’ 

นั้นเป็นเหตุผลที่เราก็นึกถึง ความฝันของอาจารย์ป๋วยขึ้นมา ‘ตายเพราะน้ำหรืออากาศที่เป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ’

สิ่งหนึ่งทีเรารู้สึกได้ ว่าความฝันที่เราทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกัน คือภาพฝันและความหวังที่อยากอยู่ในบ้านที่ปลอดภัย ทั้งทางสุขภาพกายและใจ ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกกังวลว่าจะตายเพราะอาหารและอากาศที่กิน สูดดมเข้าไป เราเองก็มีความฝันที่อยากมีครอบครัวเล็ก ๆ ในบ้านหลังเล็ก ๆ ที่มีโอกาสให้เขาได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี และมองเห็นเขาเติบโต เฉกเช่นนี้ ก็คงไม่ต่างจากชุมชนน้ำแม่ทาหลาย ๆ คน ที่อยากช่วยกันรักษา ดูแลบ้านที่เกิดและครอบครัวอันเป็นที่รัก 

ปัจจุบันเครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา เกิดจากผู้คนหลากหลายจับมือถือแขนช่วยกัน ทั้งจากเครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายภาคประชาชน ที่ต่างอยากเห็นวิถีชีวิตทุกคนอยู่บนฐานของสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมบนประชาธิปไตยที่ดีและเท่าเทียม 

แม้ถนนหนทางจะยาวนานเข้าปีที่ 8 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นถนนที่ทอดยาวออกไปอีก และไปสิ้นสุดที่ไหน (ตัวผู้เขียนเองก็ไม่อาจทราบได้) แต่ผู้คนที่ผลัดเปลี่ยนเวียนเข้ามาช่วยก่อสร้างถนนสายนี้ มีมากหน้าหลายตา และหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังยึดเหนี่ยวพวกเขาเหล่านั้น ไว้ซึ้งกันและกัน  เพราะทุกคนอยากเห็นความเป็นประชาธิปไตยในเรื่องการจัดการทรัพยากรที่เท่าเทียม

 


ข้อมูลงานวิจัย: รังรอง ทาบุญเมือง.(2559). ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ: กรณีศึกษาเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ทา อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

ติดต่อ : กลุ่มรักษ์แม่ทาคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ แม่ทา ลำพูน 

อ่านต่อ : Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ฉบับผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ http://203.155.220.174/download/article/article_20190529114741.pdf 

แหล่งอ้างอิง

  • ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2538) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพ อากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2547), ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 28 (พ.ศ.2550), ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2552) และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที 36 (พ.ศ.2553)
  • ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้เตาเผามูลฝอยเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2553
  • อานันท์ กาญจนพันธ์. สิทธิตามรัฐธรรมนูญ. สืบค้นจาก http://www.parliament.go.th
  • กรมควบคุมมลพิษ. แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ(พ.ศ. 2559 - 2564) สืบค้นจาก http.//www.oic.go.th.
  • นิภาพรรณ เจนสันติกุล. การบริหารการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย. สืบค้นจาก http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6141/331.
  • ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก เผยแต่ละปีคนไทยทิ้งขยะกว่า 27 ล้านตัน. สืบค้นจาก https://www.bltbangkok.com/news/4878