โยษิตา สินบัว รายงาน
รุ้งเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ทลายเพดานการเมืองไทยจากการอ่าน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 และได้จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหลายครั้งภายใต้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากนั้นรุ้งถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตราอยู่หลายข้อหา รวมถึงข้อหาระดับที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติอย่างหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (กฎหมายอาญามาตรา 112) และยุยงปลุกปั่น (กฎหมายอาญามาตรา 116) และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำถึง 3 ครั้ง
กระทั่งวันที่ 30 พ.ย. 64 ศาลอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขคือ ห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย ไม่ร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ห้ามออกนอกเคหสถาน 24 ชั่วโมง ยกเว้นเดินทางไปสอบ ไปสถานพยาบาล หรือไปตามนัดพิจารณาคดี ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ติดกำไล EM ตลอดเวลา
เราคุยกับรุ้งในวันที่เธอใกล้จะสำเร็จการศึกษาจากคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม. ธรรมศาสตร์ เพื่อเข้าใจถึงเรื่องอิสรภาพนอกกรงขัง ตั้งแต่วันที่ข้อเท้าซ้ายของรุ้งถูกพันธนาการด้วย EM จนถึงวันที่เธอได้เป็นอิสระจากอุปกรณ์ดังกล่าว
น่ารำคาญ เดินไม่ถนัด และความกังวลต่อสายตาคนเมื่อต้องใส่ EM
“ภาระของเราที่มี EM คือ การเสียค่าไฟเพิ่ม” รุ้งกล่าว
ระหว่างที่ใส่ EM รุ้งรู้สึกรำคาญและมักปวดข้อเท้าซ้าย เพราะ EM มีขนาดค่อนข้างใหญ่จึงทำให้เดินได้ไม่เต็มเท้า หนึ่งในสิ่งที่ยืนยันได้คือภาพข้อเท้าของรุ้งหลังจากถอด EM ที่จะพบว่ามีรอยบุ๋มลงไป รุ้งคาดว่าเกิดจากการที่ตนชอบนั่งขัดสมาธิแล้วทับขาตัวเอง แต่ปัจจุบันร่องดังกล่าวเริ่มดีขึ้นบ้างแล้วหากเทียบกับวันแรกที่ถอดอุปกรณ์
รุ้งกล่าวว่า EM ทำหน้าที่คล้าย GPS คือ เป็นตัวรับ-ส่งสัญญาณไปที่คอมพิวเตอร์เพื่อติดตามว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงไหนในช่วงเวลานั้น ตัวรุ้งมีหน้าที่ชาร์จแบตเตอรี่ (แบตฯ) ให้เต็มตลอดเวลาเพราะไม่แน่ใจว่าหากแบตหมดจะทำให้สัญญาณหลุดหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่หากแบตฯ ใกล้หมดจะมีเจ้าหน้าที่โทรมาเตือนว่าให้ชาร์จแบต
การชาร์จแบตฯ ให้เต็มเป็นหน้าที่เดียวที่เธอต้องทำ แต่รุ้งเล่าว่าบางครั้งอุปกรณ์ติดตามตัวนี้ก็มีปัญหาอยู่บ้าง แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ของรุ้งอาจไม่เยอะเท่าที่เพื่อนนักกิจกรรมคนอื่นพบและเป็นปัญหาที่นาน ๆ ทีจะเป็นสักครั้ง คือการชาร์จแบตฯ ไม่เข้า บางครั้งมารู้ตัวว่าแบตฯ ยังไม่เต็มเอาตอนตื่นนอน ต้องแก้ปัญหาด้วยการพกพาวเวอร์แบงค์ติดตัวเอาไว้เพื่อชาร์จระหว่างวัน เช่น รุ้งเสียบชาร์จปกติเหมือนทุกวันแต่อยู่ดี ๆ ก็ชาร์จไม่เข้า พอตื่นขึ้นมาก็ได้รู้ว่าแบตฯ ยังไม่เต็ม โดยวิธีแก้ปัญหาคือการพกพาวเวอร์แบงค์ติดตัวเพื่อชาร์จ EM ระหว่างวัน ซึ่งการชาร์จแบตหนึ่งครั้งใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง
นอกจากเรื่องการดูแลกำไลข้อเท้าไฟฟ้า ยังมีเรื่องของความวิตกกังวลต่อสายตาของคนที่เห็นสิ่งที่อยู่ที่ข้อเท้าของเธอ รุ้งไม่ได้รู้สึกกังวลต่อสายตาผู้ใหญ่หรือคนทั่วไปเท่าไหร่เพราะคิดว่าหลายคนน่าจะรู้จักรุ้งอยู่แล้ว แต่เด็กคือกลุ่มคนที่อาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ EM เพิ่ม แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะไม่เคยมีเด็กเข้ามาถามโดยตรง แต่รุ้งยอมรับว่ามันคือความกังวลที่เกิดขึ้นในใจของเธอเอง
“ถ้าเด็กมาเห็นเขาจะรู้หรือเปล่า จะเข้าใจหรือกลัวเรามั้ย อันนี้คือสิ่งที่กังวลมากว่าเด็กจะกลัวเรา อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งเพราะเครื่องมันใหญ่เหลือเกิน”
อิสรภาพที่ถูกจำกัด
รุ้งมองว่าการใส่ EM ที่ข้อเท้านั้นไม่ต่างจากการมีผู้คุมวิญญาณตามติดเท่าไหร่ คือ รู้สึกว่าตนเองกำลังถูกสอดส่องว่ากำลังไปไหน อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร แม้ไม่สามารถพูดได้อย่างสุดโต่งว่าไม่มีอิสระ แต่ก็เป็นอิสรภาพที่ถูกจำกัดเพราะก่อนหน้าที่จะถูกติดกำไล EM ที่ข้อเท้านั้น รุ้งเคยถูกเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน 24 ชั่วโมง ซึ่งเธอเรียกมันว่า “คุกในบ้าน” นอกจากนั้นยังถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและ “เพกาซัส” สปายแวร์ที่สามารถเจาะโทรศัพท์เพื่อเข้าล้วงข้อมูล หรือสั่งเปิดกล้องเพื่อแอบดูสิ่งรอบข้างโดยที่เจ้าของโทรศัพท์ไม่รู้ตัว
“มันไม่รู้จะคุมอะไรไปได้มากกว่านี้อีกแล้วนอกจากเอาเรากลับไปอยู่ในคุกอีกรอบ มันเหมือนให้มานิดนึงแต่ทุกอย่างยังถูกดำเนินไปเหมือนเดิมแทบไม่ต่างอะไรจากการที่มีคนคอยคุมประพฤติเราตลอด 24 ชม.”
นอกจากเรื่องราวที่เหมือนหนังไซไฟ อีกสิ่งที่ยังพันธนาการเธอคือเงื่อนไขการประกันตัวจากศาลที่กว้างขวางครอบคลุมจนเธอเองเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเธอถึงมาอยู่ตรงนี้และพยายามหาทางออกหรือแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หลายครั้งก็พบว่ามันไม่มีทางออกที่รุ้งสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองเพราะสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเท่านั้น
“นั่นสิ… มันเป็นความรู้สึกเดียวกับตอนอยู่ในคุก คือ เราสู้เพื่ออิสรภาพแต่เราถูกจำกัดอิสรภาพเอง”
เงื่อนไขของอิสรภาพ
รุ้งเล่าว่าตนเองได้ยื่นคำร้องขอถอด EM ไปสองครั้ง โดยยื่นพร้อมการขอขยายเวลาประกันตัว ครั้งแรกเธอถูกปฏิเสธจนมาได้ในครั้งที่สอง เธอมีเพื่อนนักกิจกรรมอีกสองคน คือ บิ๊ก-เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และเบนจา อะปัญ ที่ยื่นคำร้องแล้วศาลอนุญาตให้ถอดกำไล EM ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าใครจะเป็นคนต่อไปที่ได้ถอดพันธนาการ EM นี้
“ก็ไม่ได้ใช้เหตุผลอะไรประหลาด ๆ ใช้เหตุผลปกติว่า ให้ได้ไปใช้ชีวิตปกติทั่วไป แล้วอยู่ดี ๆ เขาก็ให้มา เราก็งงแล้วก็ดีใจ”
แม้จะได้อนุญาตให้ถอดกำไล EM แล้ว แต่รุ้งยังคงมีเงื่อนไขประกันอื่น ๆ อีก คือ การห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาล และห้ามออกนอกประเทศ ส่วนการกำหนดเวลาอยู่นอกเคหสถานก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้ตอนนี้เธอสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
รุ้งมองว่าการถอด EM อาจไม่เกี่ยวกับอิสระในการเคลื่อนไหวโดยตรง เพราะการใส่กำไล EM คือการจำกัดและติดตาม และรุ้งก็ยังมีเงื่อนไขประกันอยู่อีกชั้นหนึ่ง สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับตัวเองว่าจะเอายังไงกับการต่อสู้นี้ เพราะความจริงมีทั้งคนที่ได้เงื่อนไขมาแต่ไม่ยอมรับ บางคนก็ยอมรับเงื่อนไขแต่จะทำตามหรือไม่ทำตามก็อีกเรื่องหนึ่ง
“มันแล้วแต่คนจริงๆ ไม่งั้นมันคงไม่มีคนที่แบบว่าเข้าคุกไปเรื่อยๆ ใช่มั้ย ไม่งั้นก็คงครั้งเดียวแล้วจบกันหมด สุดท้ายก็แล้วแต่สถานการณ์ว่าเราจะสามารถทำอะไรได้มั้ย ณ ตอนนั้น”