เรื่อง: พงศกร ปัญจคุณาภรณ์

จากกระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา มีข้อเรียกร้องต่างๆผู้ประท้วงมากมายผุดขึ้นมา เช่น 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 63  ประยุทธ์ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ 60 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีและสวัสดิการที่ดีจากรัฐบาล  แต่หากสำรวจจากดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่มีการจัดอันดับตามที่ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยานักวิชาการอิสระด้านแรงงานนำเสนอในเวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 WELFARE STATE 2022 แล้ว ส่วนใหญ่ประเทศที่มีอันดับเหล่านี้สูงก็จะมีอันดับดัชนีอีกตัวสูงตามขึ้นมาด้วย ก็คือดัชนีในด้านสหภาพแรงงาน แต่ในประเทศไทยเหมือนเรื่องนี้จะ ไกลตัวประชาชนทั่วไปหรือแม้กระทั่งคนที่ออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเสียเหลือเกิน 

อ่านเพิ่มเติม >>> รายงานการจัดอันดับ “ดัชนีประชาธิปไตย” (Democracy Index) ล่าสุดปี 2021 โดย Economist Intelligence Unit (EIU)


ข้อมูลสัดส่วนจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานจาก OECD https://www.forbes.com/sites/niallmccarthy/2019/05/06/the-state-of-global-trade-union-membership-infographic/?sh=6acb018b2b6e

จัดอันดับประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุด โดย World Population Review https://worldpopulationreview.com/country-rankings/happiest-countries-in-the-world

อันดับประเทศที่น่าอยู่ที่สุดโดย CS Global Partners

จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ปัจจุบันมีผู้ที่เป็นสมาชิกสหภาพของรัฐวิสาหกิจ 151,992 คน จากทั้งหมดประมาณ 2.6 แสนคน และฝั่งเอกชน 466,269 คน จากทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน เท่ากับเรามีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 1-2% ต่อสัดส่วนประชากร เท่านั้น

ทั้งๆที่ถ้าดูจากตัวดัชนีแล้วหากเราต้องการประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองผลประโยชน์นั้นดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะทั้ง 3 ปัจจัยมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 65 เครือข่าย we fair และแนวร่วมรัฐสวัสดิการ จัดเวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 WELFARE STATE 2022 ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงานและอดีตคนเดือนตุลา ได้กล่าวถึงดัชนี 3 ตัว คือ ด้าน สหภาพแรงงาน ประชาธิปไตย คุณภาพชีวิต ว่าทั้ง 3 ตัวนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าอยากได้ประชาธิปไตย คุณภาพชีวิตที่ดีมีสวัสดิการ ก็ต้องรวมตัวกันเรียกร้องเป็นสหภาพแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรองผลประโยชน์ของตัวพวกเราเอง

โดยศักดินา กล่าวว่า “มันไม่มีประเทศไหนที่ เป็นประชาธิปไตยสูง โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่รวมตัวกันไม่ได้ มันไม่มีทางเลือกอื่น คือถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นรัฐสวัสดิการ อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มันไม่มีทางลัดอื่น มันไม่มีช่องทางอื่นนอกจากการที่จะทำให้ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงคนทำงานรวมตัวกันแล้วมีอำนาจต่อรอง เราถึงจะไปเปลี่ยนแปลงวงจรนี้ได้ เพราะมันมีหลายอย่างที่ต้องเปลี่ยนแปลง แล้วเราจะไปหวังให้คนส่วนน้อยเปลี่ยนแปลงให้เราเนี่ยมันไม่มีความเป็นไปได้เลย ”

และก็ไม่ใช่ว่าในประเทศไทยไม่เคยเกิดการวมตัวต่อสู้ของขบวนการแรงงานมาก่อน โดยถ้าย้อนไปในช่วงการต่อสู้ยุคเดือนตุลา 16-19 นอกจากบทบาทการต่อสู้ของนักศึกษาแล้วอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยตอนนั้นเข้มแข็งก็คือขบวนการแรงงานกรรมกรที่ผนึกกำลังกับนักศึกษาและชาวนาเป็นสามประสานเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยความเสมอภาคและคุณภาพชีวิตที่ดี หลักฐานของเรื่องนี้ก็คือสถิติการนัดหยุดงานของแรงงานทั้งประเทศที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วง 2516-2519 ซึ่งสัมพันธ์กับกระแสการต่อสู้ทางการเมืองในภาพใหญ่


สถิติจำนวนการนัดหยุดงาน - จำนวนลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง - จำนวนวันทำงานที่ถูกนับ จากกระทรวงแรงงาน เว็บไซต์ของโครงการบันทึก 6 ตุลาได้บันทึกข้อมูล “การต่อสู้ของกรรมกร” ในช่วงนั้นไว้

วันที่ 1 พฤษภาคม 2517 กลุ่มกรรมกรต่างๆ 34 สมาคม ได้ร่วมมือกับขบวนการนักศึกษาจัดงานวันกรรมกรขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่สวนลุมพินี มีกรรมกรเข้าร่วมนับหมื่นค

วันที่ 9 มิถุนายน 2517 กรรมกรทอผ้า 600 โรงงานทั่วประเทศจึงนัดหยุดงาน และนัดชุมนุมที่สนามหลวง ตั้งข้อเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างแรงงาน ให้มีสวัสดิการ และให้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การชุมนุมขยายตัวเป็นการชุมนุมใหญ่ที่ยืดเยื้อถึง 4 วัน และมีกรรมกรหลายหมื่นคนเข้าร่วม

การประท้วงของพนักงานโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเคยนัดหยุดงานครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2517 เป็นเวลา 23 วัน เพื่อเรียกร้องค่าจ้างแรงงาน ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2518 คนงาน 400 คนก็นัดหยุดงานครั้งที่สอง

วันที่ 9 ตุลาคม 2518 กรรมกรหญิงโรงงานฮารา ตรอกวัดไผ่เงิน เริ่มนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ

วันที่ 2 มกราคม 2519 กรรมกรสังกัดสหภาพแรงงานต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ จึงได้นัดหยุดงานพร้อมกันเพื่อคัดค้านการยกเลิกการจำหน่ายข้าวสารราคาถูกของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อมามีการชุมนุมใหญ่ของกรรมกรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และกรรมกรเข้าร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน ในที่สุด วันที่ 6 มกราคม รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องยอมรับข้อเรียกร้อง

วันที่ 5 พฤษภาคม 2519 กรรมกรโรงงานลักกี้เท็กซ์ (ไทย) จำนวนถึง 5,000 คนนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างแรงงาน


ทวีป กาญจนวงศ์ อดีตประธานสหภาพแรงงานของการท่าเรือได้เล่าถึงการต่อสู้ในตอนนั้น

เริ่มต้นที่สหภาพท่าเรือ

โดยเขาเริ่มทำงานที่การท่าเรือ และเคยเป็นประธานสหภาพแรงงานการท่าเรือ เริ่มมาสนใจประเด็นเหล่านี้ตอนเริ่มทำงานในท่าเรือเพราะมีสหภาพแรงงานตั้งแล้วตอนนั้น ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ที่อนุญาตให้แต่ละองค์กรตั้งสหภาพภายในได้ โดยคนในสหภาพก็มีการตื่นตัวเรื่องผลประโยชน์ สิทธิต่างๆ มีการประท้วงกันเรื่อยมา เพราะสหภาพก็ไม่ชอบเผด็จการ องค์กรสหภาพแรงงานเป็นองค์กรประชาธิปไตย รวมทั้งในแต่ละองค์กรของรัฐก็มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเกี่ยวกับประชาธิปไตย อย่างเช่น ไพศาล ธวัชชัยนันท์ ผู้นำแรงงานที่มีบทบาทสูงสุดในช่วงนั้น จากการไฟฟ้านครหลวง

แต่บางช่วงก็มีทหาร หรือหน่วยราชการมาควบคุม ข่มขู่ภายในก่อน และก็คนในองค์กรมีถูกเรียกไปสอบสวนด้วย บางคนติดคุกอยู่เป็นเดือนก็มีถ้าตอบคำถามเจ้าหน้าที่ไม่ชัดเจน ไม่ถูกใจ คุณทวีปเองก็เคยถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำแต่ไม่ได้ถูกขัง แต่ก็ไม่ได้กลัวเพราะมองว่าตัวเองทำเพื่อสิทธิ ประโยชน์ ของแรงงาน

ซึ่งแตกต่างกับฝั่งของแรงงานเอกชนที่จะจัดตั้งและรวมตัวยากกว่าต่างจากรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายรับรองให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน ด้านเอกชนถ้าใครคิดจะรวมตัวก็อาจจะถูกนายจ้างกดดันไม่ให้มีการรวมตัวได้ รวมทั้งฝั่งเอกชนจะถูกขูดรีดกดขี่มากกว่าในการทำงาน

ทำงานร่วมกับ นศ. ในการประท้วงการเมืองภาพใหญ่

ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ทวีปบอกว่ามีโอกาสมาร่วมชุมนุม ฟังแกนนำนักศึกษาปราศัย เช่น ธีรยุทธ บุญมี เสกกสรรค์ ประเสริฐกุลเพื่อไล่เผด็จการจอมพลถนอม และเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็มีโอกาสร่วมประชุมกันกับนักศึกษาเพื่อวางแผนการเคลื่อนไหว ในฐานะตัวแทนนกรรมกรด้วย

หลังจากนั้นสหภาพแรงงานขององค์กรต่างๆ ก็มีการทำงานร่วมกับนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆตลอดมา เป็นแนวร่วม 3 ประสาน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่เขามองว่าทำให้การประท้วงช่วงเดือนตุลาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก รวมทั้งทวีปเองก็มีโอกาสได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหลายๆ โอกาสด้วย

เรียกร้องผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม

อดีตประธานสหภาพท่าเรือยังเล่าต่อว่าสมัยนั้นเราไม่ได้เรียกร้องแค่เพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานอย่างเดียว แต่เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนคนทั่วไปด้วย เช่น กรณีการชุมนุมประท้วงคัดค้านการขึ้นราคาข้าวสารที่ลานพระบรมรูปทรงม้าปี 2519 ตัวคุณทวีปกับสหภาพของท่าเรือก็ไปเข้าร่วมประท้วงด้วย เพราะองค์กรกลางของสหภาพแรงงานนำโดยคุณไพศาล ธวัชชัยอนันต์ไปเข้าร่วมประท้วง

จนถึงก่อนช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่มีการปลุกระดมหลายทาง อย่างวิทยุยานเกราะ ว่าพวกคนที่มาประท้วงเป็นหัวเอียงซ้ายเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น ทมยันตี อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา  ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ 

ทวีปมองว่า 14 ตุลาคมเป็นหนึ่งในจุดหมายที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของประชาชน ส่วนช่วง 6 ตุลา แม้ว่าจะเกิดการสูญเสียมากมายเกิดขึ้น แต่ก็ถ้าพูดในมุมของแรงงานก็ได้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ทำให้สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ และก็ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีปากมีเสียงมากขึ้นสามารถรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองและเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของพวกตนเองได้

ความแตกต่าง และความหวังของอดีตประธานสหภาพการท่าเรือ

 และเมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างขบวนการแรงงานและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันกับช่วงเดือนตุลาคม คุณทวีปก็มองว่าในปัจจุบันมีลักษณะการต่อสู้ที่ต่างคนต่างสู้ในแต่ละส่วนของตัวเอง ไม่มีการร่วมไม้ร่วมมือกันต่อสู้เหมือนยุคนั้นทำให้พลังของการต่อสู้ลดลง แต่เขาก็ยังหวังว่าขบวนการประชาธิปไตยและกระบวนการแรงงานจะกลับมาผนึกกำลังกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ ผลประโยชน์และประชาธิปไตยร่วมกันเหมือนครั้งอดีตที่ผ่านมา

“ผมก็อยากเห็นภาพแบบนั้นแหละองค์กรประชาธิปไตย นักศึกษา ปชช องค์กรแรงงานทั้งหลายควรจะจับมือกันเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของตนเองและประชาชนด้วย”

ซึ่งก็สอดคล้องไปกับสิ่งที่ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุทธยา กล่าวถึงขบวนการแรงงานในเวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 WELFARE STATE 2022

เกี่ยวกับผู้เขียน

เนื้อหาล่าสุด