โดย: ชาลินี ทองยศ
คุยกับ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ย้อนรอยเส้นทางนักเคลื่อนไหว จากเดินตามพ่อไปลงพื้นที่สู่การโบกรถเข้าหาความอยุติธรรม ในช่วงชีวิตที่ติดคุกเป็นว่าเล่นจากคดีการเมือง อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เขายังไม่เข็ดหลาบหรือขลาดกลัว
เราได้นั่งคุยกับไผ่ในวันที่เขากลับมาพักผ่อนที่บ้านในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิในช่วงก่อนท้ายปี 2565 ปีที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้อยู่ในกระแสสูงมากนัก
ไผ่คือหนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่มีเส้นทางการรณรงค์ต่อสู้มานานนับทศวรรษ เริ่มจากประเด็นสิ่งแวดล้อม แล้วค่อยๆ กินแดนขยายไปในประเด็นการเมืองระดับประเทศ แต่การเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็แลกมาด้วยการตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม และเมื่อถามว่าถูกจับกุมมากี่ครั้งแล้ว คำตอบที่ได้คือการนับนิ้ว
“โห เป็นสิบ ทั้งโรงพัก ทั้งเรือนจำ ถ้าเป็นโรงพักก็ที่อุดรฯ ที่ขอนแก่น ที่กรุงเทพฯ เนี่ยหลายที่หลาย สน. เลย มีศาลทหาร มีศาลอาญา” ไผ่ตอบ
“สำหรับตัวเองก็ชิลแหละ เพราะว่ามันผ่านสมรภูมิมาเยอะ ก็เข้มแข็งอยู่ในเรื่องนี้ เข้าไปก็เหมือนไปเจอเพื่อนๆ มีเพื่อนเยอะหลายวงการ ก็เลยรู้สึกว่าไปไหนก็มีเพื่อน มีคนรู้จัก”
โบกรถ เดินเท้า ดาวดิน
พื้นเพของไผ่เป็นคนอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เขาเล่าว่า สมัยเด็กเขามักจะตามพ่อที่เป็นทนายความไปลงพื้นที่ให้ความรู้ทางกฎหมายกับชาวบ้านอยู่เสมอ ในปี 2553 ไผ่เข้าเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เข้าร่วมกับกลุ่มดาวดินเพื่อเคลื่อนไหวหนุนเสริมขบวนการของภาคประชาชนและเริ่มเข้าใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมมากขึ้น
“ก็ไปแบบใช้ชีวิตแบบวัยรุ่น หาพี่ ไปกินเหล้า ครั้งหนึ่งได้เข้าไปเรียนรู้ได้ไปลงพื้นที่ ตอนนั้นเขาโบกรถกันไป ก็เลยชอบบรรยากาศ มันรู้สึกได้ใช้ชีวิตแบบอิสระดี ไม่ได้แค่เรียนอย่างเดียว ได้มีโอกาสไปลงเรียนรู้พื้นที่ ได้เห็นความอยุติธรรม เห็นปัญหา เห็นชาวบ้านโดนทำร้าย เห็นโดนตี”
เมื่อถามว่าทำไมถึงใช้วิธีการโบกรถ ไผ่ตอบทันทีว่า
“ไม่รู้ ไปกับเขา ต้องไปถามรุ่นพี่ว่าทำไมถึงใช้วิธีโบกรถ แต่ผมชอบครับ เรารู้ว่าปลายทางคืออะไร แต่ระหว่างทางมันตื่นเต้น ระหว่างทางไม่รู้ว่าจะมีคันไหน ขึ้นคันไหน บางคันก็ขึ้นไปป้ายเดียวจบเลย บางคันก็หลายต่อ มันก็เป็นความรู้สึกได้เรียนรู้ ได้เห็นระหว่างทาง ปกติเราขึ้นรถโดยสารก็หลับ ไปถึงจุดหมายก็ตื่น แต่นี่คือตื่นเต้นตลอดเวลาว่าจะเป็นยังไงต่อ บางทีก็ได้เดิน พอได้เดินก็ได้เห็นรายละเอียด เห็นอะไรต่างๆ”
ความไม่เป็นธรรมครั้งที่หนึ่ง
การลงพื้นที่ในครั้งแรกของไผ่อยู่ที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ในการค้านเหมืองโปแตชที่นายทุนและรัฐไปแย่งทรัพยากรชาวบ้าน แม้ยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก แต่การลงพื้นที่ครั้งนั้นทำให้เขาเห็นความรุนแรงของฝ่ายรัฐซึ่งกระทำกับชาวบ้านที่ต่อสู้ปกป้องพื้นที่ของตนเอง
“ทำไมมันเป็นแบบนั้น ทำไมชาวบ้านโดนตีโดนทำร้ายแบบนั้น แล้วเหตุผลที่ชาวบ้านเขาพูดเขาสู้ก็คือเรื่องปกป้องทรัพยากรเพราะเขาหวงแหนพื้นที่ นายทุนก็จะมองว่า ตรงนี้มันมีทรัพยากรอะไรที่ดึงไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่แคร์ ไม่สนใจโครงสร้างการพัฒนาพื้นฐานอะไร สนใจแต่ผลกำไรตามหลักการทุนนิยม ต้นทุนต่ำสุดผลกำไรสูงสุด” ไผ่เล่า
หลังจากนั้นไม่นาน ประเทศไทยเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้บรรยากาศการกดทับสิทธิและเสรีภาพยิ่งมากขึ้น
“พวกเราก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ก็ลงไปหาชาวบ้าน แต่พอเกิดรัฐประหารขึ้นมันเห็นได้ชัดว่าเสรีภาพต่างๆ มันน้อยลง เช่น แต่ก่อนเราไปหาชาวบ้านเราไม่เคยขออนุญาตใคร ว่างตอนไหนหรือคุยว่ามีภารกิจอะไรก็ลงไปหาชาวบ้าน แต่รอบนี้เหมือนว่าทหารก็มาห้าม มาตั้งด่าน ในบ้านห้ามมีรองเท้าเกินห้าคู่ ตอนนั้นมันมีเคอร์ฟิว ห้ามชุมนุมห้ามมั่วสุมรวมตัวกัน เราก็รู้สึกมันแย่นี่หว่า มันหนักมาก”
นอกจากบรรยากาศที่สัมผัสได้ อีกหนึ่งในตัวอย่างของผลกระทบจากการรัฐประหารที่ไผ่ยกขึ้นมา คือการตกหล่น สูญหายของข้อบัญญัติชุมชนที่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย พื้นที่ที่มีการสัมปทานเหมืองทอง การรัฐประหารทำให้ข้อบัญญัติที่ชาวบ้านตั้งใจผลักดันเพื่อคัดง้างกับกลุ่มทุนที่สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาหายไปทันที
ชูสามนิ้ว เข้าค่ายทหาร
19 พฤศจิกายน 2558 เป็นวันที่ไผ่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่และถูกนำตัวไปค่ายทหาร สาเหตุเป็นเพราะเขาไปชูสามนิ้ว สัญลักษณ์ของการต่อต้านการยึดอำนาจ ต่อหน้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน บริเวณศาลากลาง จ.ขอนแก่น
“ตอนนั้นประยุทธ์มีคำพูดท้าทาย เนี่ย รัฐประหาร ไปได้ทั่วทุกที่ในประเทศนี้ ซึ่งเราไม่ได้รู้สึกแบบนั้นอ่ะ อ้าว กูยังค้านอยู่ ไม่ได้เห็นด้วยอย่างที่เขาพูด”
ไม่ใช่แค่ไผ่ แต่เพื่อนๆ ในกลุ่มดาวดินต่างแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร มีการโปรยใบปลิว ‘อีสานไม่ต้อนรับเผด็จการ’ จากนั้นไผ่และเพื่อนก็เดินเข้าไปชูสามนิ้วใส่หัวหน้าคณะรัฐประหารพร้อมทั้งใส่เสื้อเป็นตัวอักษรเรียงกัน 5 คน ว่า ‘ไม่ เอา รัฐ ประ หาร’
เขาและเพื่อนถูกควบคุมตัวทันที
“จับเลยครับ ชูแป๊ปดียวก็โดนชาร์จ” ไผ่พูดปนขำ
“โดนจับครับ จับไปปรับทัศนคติ ซึ่งเราไปฟังการปรับทัศนคติ เราก็รู้ว่าทัศนคติเขานี่แหละที่แย่ เป็นทัศนคติที่แบบ ยอมท่านผู้นำนะ ไม่ตั้งคำถามนะ ให้เขาทำไปอย่าไปค้านเขา และเขาก็พยายามอยากจะรู้ว่าเราการเมืองสายไหน คือเราไม่ใช่สายการเมืองสายไหนเลย เราเป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่เห็นด้วย ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม แล้วก็ออกมาต่อต้าน มันเป็นความงุนงงของทหารด้วย ตอนนั้นทหารยึดอำนาจบวกกับทัศนคติของทหารที่ว่า ให้ท่านผู้นำได้ดำเนินงาน เราก็รู้สึกว่า แม่งเลอะเทอะ เราก็ไม่ได้ปรับทัศนคติตามที่เขาว่า แต่เรานี่แหละไปปรับทัศนคติเขา”
การเคลื่อนไหว คุก คดีความ
แม้จะถูกรวบไปหนึ่งครั้ง แต่ไผ่และเพื่อนๆ ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว ในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหารเมื่อปี 2558 พวกเขาจัดกิจกรรมขึ้นอีกครั้งเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จนต้องถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรกจากกิจกรรมนั้น
เมื่อ 22 พ.ค. 2558 ไผ่และเพื่อนกลุ่มดาวดิน 7 คน ไปทำกิจกรรมต้านรัฐประหารอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เป็นกิจกรรมที่มีการนัดหมายที่จะกระจายตัวกันทำในหมู่นักกิจกรรมนักศึกษาจากหลายภาคของประเทศ และที่นั่น เขาก็ถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. คำสั่งที่ออกโดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร เซ็นเอง ออกเอง ไม่ต้องผ่านกระบวนการตามขั้นตอนปกติ
แต่นั่นไม่ใช่จุดที่หนักที่สุด เพราะในปลายปี 2559 หลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไผ่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์บทความพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าวบีบีซี ที่แม้จะมีคนแชร์กว่า 2,000 ครั้ง แต่ไผ่เป็นคนเดียวที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและถูกจับดำเนินคดี ไผ่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว และต้องอยู่ในเรือนจำนานถึง 870 วัน ก่อนจะได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 หลังจากเขาจำยอมรับสารภาพระหว่างดำเนินคดีเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560
“เหมือนกับว่าเราสู้กับเผด็จการทหารมาเรื่อยๆ คสช. ก็พยายามใช้คำสั่ง พอคำสั่งมันเริ่มไม่ได้ผลก็ใช้กฎหมายที่หนักขึ้นก็คือมาตรา 116 ที่โดนกับโรม (รังสิมันต์ โรม) ยังเป็นคดีอยู่ทุกวันนี้ แล้วก็ใครไม่หยุดไม่ยอมก็ใช้มากขึ้น มาตรา 112 ช่วงนั้นฝ่ายรัฐจะพยายามหาเหตุ อย่างแม่จ่านิวที่แค่ใช้คำว่า ‘จ้า’ คำเดียว ก็โดนกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เหมือนหาเรื่อง อยากจะเอาให้ได้”
“พอเราแชร์ข่าวบีบีซี เราก็เลยโดนไปด้วย ตอนนั้นก็ไม่ได้หยุด ยังเคลื่อนอยู่ตลอด ตอนนั้นเพดานสูงถึงขั้นไม่ได้ประกันตัวด้วยซ้ำ รอบสุดท้ายก็คือโดน 112 ยาว ปิดตำนานบักสิเด๋อ (คำภาษาอีสาน ใช้เรียกคนประเภทที่ดูเชยๆ หรือน่าล้อเลียน เป็นคำที่ไผ่ใช้แทนตัวเอง)” ไผ่พูดปนขำ
ในช่วงการคุมขัง ไผ่สอบจนจบหลักสูตรคณะนิติศาสตร์ มข. และเป็นบัณฑิตในกำแพงเรือนจำ
ไผ่ไม่เพียงแต่เสียเวลาและอิสรภาพ แต่การเป็นนักโทษคดี ม. 112 ทำให้เพื่อนกลัวที่จะมาพูดคุยกับเขาไปด้วย
“แต่ก่อนใครที่โดน ม. 112 เพื่อนไม่กล้าคบ ไม่ใช่เลิกเป็นเพื่อนนะ แต่ความสัมพันธ์อะไรหลายๆอย่างมันจะตัดลง เช่น ไม่เป็นเพื่อนในเฟส เพราะมันน่ากลัวมาก ตราหน้าด้วย ม. 112 เนี่ยมันน่ากลัวจริงๆ แสตมป์ปุ๊บ ไม่มีทางได้ออกมา ตอนนั้นพี่สมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) ก็โดนไปตั้ง 7-8 ปี ก่อนหน้านั้นหลายๆ คนก็โดนช่วงที่มารณรงค์ ครก.(คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112)ก็มี อย่าง อากง SMS อะไรแบบนี้”
“กระบวนการยุติธรรมมันแย่มากๆ สู้ไม่ได้ ไม่เปิดพื้นที่ในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเลย ปิดช่องทางการต่อสู้ ปิดทุกอย่าง บีบให้รับสารภาพ คือพอเป็นมาตรา 112 มันไม่ได้พูดถึงความเป็นธรรม ไม่ได้พูดถึงเรื่องการต่อสู้คดี มันไม่ได้พูดถึงเหตุผลแล้ว มันเป็นเรื่องของอำนาจล้วนๆ มันเป็นเรื่องของความเชื่อไม่ใช่เรื่องของกฎหมายที่เอาข้อเท็จจริงมาหักล้าง ไม่มีเนื้อหาสาระไม่ได้มีเหตุมีผลเลย เป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้จัดการการเมืองฝ่ายตรงข้าม”
ช่วงเวลา 2 ปี 5 เดือน และ 7 วันในเรือนจำ ไผ่เป็นเสมียนของสถานพยาบาล มีหน้าที่ช่วยเรื่องเอกสารการรักษาต่างๆ ของโรงพยาบาล ระหว่างนั้นเขาก็ถือโอกาสเรียนรู้ผู้คน พบปะเพื่อนใหม่ เข้าใจการใช้ชีวิตในเรือนจำ และอ่านหนังสือ
“ในนั้นก็อ่านหนังสือเยอะ ได้ทบทวนการทำงาน แนวคิดทฤษฎีต่างๆ ได้อ่านเยอะ ได้เรียนรู้เยอะ ได้คุยกับคนเยอะ อยู่ข้างในคนมันเยอะมาก เราก็ได้ไปศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์ เรียนรู้ความหลากหลาย มันก็ตื่นเต้นดี แต่หลังๆ มาเริ่มเบื่อก็มาอ่านหนังสือ แรกๆ เข้าไปมันก็ช่วงเรียนรู้ พอเรียนรู้ทุกอย่างก็ได้อ่านหนังสือ ได้ตกตะกอน เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นยังไง การจัดตั้ง งานความคิด ผนวกกับสิ่งที่เราเคยทำมาแล้วด้วย อ่านหนังสือก็ทำให้เห็นภาพมากขึ้น”
เมื่อถามถึงความแน่วแน่มุ่งมั่นหลังได้รับการปล่อยตัวในวันนั้น คำตอบที่ได้คือไผ่ไม่ได้หมดหวัง แต่กลับเต็มไปด้วยความหวังและพร้อมเดินหน้าต่อด้วยความรัก
“ก็ผงาดต่อ เราก็จดจำไว้ครับ เราก็จดจำทุกวัน ทุกคืน ทุกเดือน ทุกปี ก็รอวันเอาคืน”
“ถ้าเป็นความแค้นมันจะโหดกว่านี้ แต่การผลักดันก็ใช้ความรักแหละ เรารักเพื่อนมนุษย์ เรารักพี่น้องอยากจะให้ชีวิตดีขึ้น”
“เดินทะลุฟ้า”
ตั้งแต่การเกิดขึ้นของกระแสการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไผ่ได้มีส่วนในการเคลื่อนไหวครั้งนั้น แต่หนึ่งในกิจกรรรมการเคลื่อนไหวที่น่าพูดถึงคือกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันที่ไผ่และแกนนำอีกหลายๆ คนต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่อัยการในคดี #ม็อบ19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จึงเริ่มมีการนึกถึงการ “เดินเท้า” เข้ากรุงเทพฯ แทนที่จะเดินทางด้วยวิธีปกติ
“การเดินในครั้งนั้นก็เพื่อปล่อยเพื่อนเรา การรายงานตัวก็คือจุดประสงค์รอง เราจะไปกรุงเทพฯ พอดี ไปถึงก็รายงานตัวด้วย ประเด็นสำคัญคืออยากจะเคลื่อนไหวอยากจะสื่อสาร เพราะตอนนั้นเข้าใจว่าบรรยากาศทางการเมืองที่กรุงเทพฯ มันก้าวหน้า แต่ว่าในต่างจังหวัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การรับรู้บรรยากาศทางการเมือง มันแตกต่าง การเดินของเราก็เหมือนได้เรียนรู้ได้เห็นการเมืองนอกส่วนกลาง การเมืองนอกกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจ เราก็ได้เดินทาง ได้พบปะพูดคุยอะไรหลายๆ อย่าง”
ระยะทาง 247.5 กิโลเมตรจาก จ.นครราชสีมา สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.กรุงเทพมหานคร ใช้ระยะเวลาร่วมเดือนกว่าจะถึงที่หมาย วันต่อมาไผ่และเพื่อนๆ จึงเดินเพื่อไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนที่อัยการจะสั่งฟ้องและเป็นอีกครั้งที่ไผ่ไม่ได้ประกันตัวจากข้อหา ม. 112 อีกครั้ง
ไม่เข็ดหลาบ เพราะอยากเปลี่ยนแปลง
การถูกดำเนินคดีครั้งล่าสุดในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2564 ทำให้ไผ่ต้องติดคุกอีกครั้งร่วม 6 เดือนในฐานะจำเลย การยื่นประกันตัวแต่ละครั้งก็เป็นเฉกเช่นกับจำเลยคดีการเมืองในช่วงเดียวกันที่เป็นไปอย่างยากเย็นและมีเงื่อนไขผูกพันแน่นหนา
“รอบนั้นติด 6 เดือน ก่อนหน้านั้นตอนที่เดินทะลุฟ้ามาถึงก็ติดเกือบ 2 เดือน หลังๆการประกันตัวมันมีเงื่อนไขมากขึ้น เราทำอะไรได้ยากมากขึ้น รู้สึดอึดอัดครับ ที่ได้รับการประกันตัวมาแบบติดเงื่อนไขเยอะแยะมากมาย เซ็งๆนิดหน่อย แต่ใจเราก็ยังเหมือนเดิม”
แม้จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายหลายครั้ง ติดคุกก็หลายครา สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมไผ่ถึงยังไม่เข็ดหรือหยุดเคลื่อนไหว คำตอบที่ได้จากเขาคือเจตนารมย์ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้
“คิดว่าประเทศนี้มันต้องเปลี่ยนแปลง มันต้องมีคนทำ ก็ต้องทำอ่ะ มันไม่มีใครทำ ไม่ใช่เรื่องแบบทำกันง่ายๆ หรือแบบว่าทำแล้วมันมีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในชีวิตการงานมันก็ไม่ใช่ มันต้องมีคนทำ ตั้งแต่เราทำมาเราก็ยังรู้สึกอยากจะทำต่อ ไม่ได้รู้สึกว่าเราผิดพลาดประการใด”
“ก็คิดว่าต้องทำครับ ประเทศนี้มันต้องเปลี่ยนแปลง ต้องมีรัฐสวัสดิการ ต้องมีโครงสร้างทางการเมืองที่ดี กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ชีวิตประชาชนมันจะดีขึ้น ถ้ามันไม่เปลี่ยนตรงนี้มันก็ยากที่ประชาชนจะมีชีวิตที่ดี”
เมื่อถามว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็นตอนนี้แล้วรู้สึกว่าอย่างไร คำตอบที่ได้คือยังมีทางอีกไกล และเขาเชื่อว่าจะมีจุดที่ขึ้นและจุดที่ลงของกระบวนการทางประชาธิปไตยให้เห็นอีก
“จากที่เราต่อสู้มามันก็มีความหวัง บางทีไม่คิดเหมือนกันว่ามันจะได้เห็น อย่างการเคลื่อนไหวปี 63-64 ก็ไม่ได้คาดหวังมันก็ได้เห็น มันก็ไปเติมความฝันว่าที่เรายังฝัน ที่เรายังเชื่อมันยังใช่อยู่ มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้แย่ลง จากที่เราเดินมาคนก็มากขึ้นเรื่อยๆ (เดินทะลุฟ้า) จากในมุมเราเรามาจากจุดตกต่ำของขบวนการ จุดตกต่ำของการเคลื่อนไหว จุดตกต่ำของประชาธิปไตย แล้วเราขึ้นมาเราเห็นพัฒนาการทางการเมืองของคนในสังคม เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างๆ เรื่องวัฒนธรรม มันมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงและคิดว่ามันต้องเปลี่ยน”
“ทั่วโลกมันก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มันไม่ใช่ว่ามีแค่ประเทศเรา ประเทศอื่นที่เขาพัฒนาไปแล้วเขาก็เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาในการผ่านการต่อสู้หลายเจเนอร์เรชั่น ผ่านอะไรหลายๆอย่าง ซึ่งการต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ใช้เวลามา 80 กว่าปีแล้วเขาก็ยังส่งต่อ”
“การต่อสู้นี้ยังไม่หมดไป ความคิดที่ก้าวหน้า ความคิดที่เป็นประชาธิปไตย ความคิดที่คนเท่ากัน เป็นธรรม เท่าเทียม มันจะอยู่ต่อไปในสังคมนี้ จนกว่าคนมันจะเท่ากัน” ไผ่ทิ้งท้ายด้วยความคิดความฝันของชายที่ผ่านมา 10 ปีแล้วก็ยังสู้อยู่