วรัญชัย เจริญโชติ และ โยษิตา สินบัว รายงาน

 

หากได้ยืนสัมผัสลมหนาวที่แยกดินแดงในปลายปี 2565 คงนึกไม่ออกว่าเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นสมรภูมิเดือดของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ทุกคนรู้จักในนาม “ทะลุแก๊ส”

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 มวลชนอิสระก่อตัวขึ้นบริเวณแยกดินแดงและได้รับความสนใจจากสังคมและสื่อมวลชนในระยะแรกเนื่องจากมีรูปแบบการชุมนุมที่ต่างจากการชุมนุมกระแสหลัก และสงบลงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นักวิชาการหลายคนระบุว่า “ทะลุแก๊ส” คือ กลุ่มชนชั้นล่างที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจโดยตรง และต้องการการแก้ไขจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน 

การชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงกลับมาอีกครั้งเมื่อ 11 มิ.ย. 65 หลังกิจกรรม "เดินไล่ตู่" จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในช่วงเย็นโดยมีเป้าหมาย คือ เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมได้มีมวลชนบางส่วนปักหลักและต้องการเดินทางไปกรมทหารราบที่ 1 ที่ตั้งบ้านพักของประยุทธ์ จากนั้นได้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและมีคนกลุ่มหนึ่งเข้าทุบรถกระบะของตำรวจที่จอดอยู่จากนั้นได้มีไฟลุกขึ้นที่รถคันดังกล่าว ด้านตำรวจก็ได้ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเช่นกัน จากเหตุการณ์นี้ได้มีการชุมนุมต่อเนื่องไปอีกหลายสัปดาห์ มีมวลชนบางส่วนถูกจับกุมจากเหตุการณ์ดังกล่าว และยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำถึงปัจจุบัน

ระเบิด ฟืนไฟ ไปม็อบ: ปัจจัยที่นำไปสู่การดำเนินคดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่ช่วงเมษายน 2565 ถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกคุมขังคดีการเมืองกลุ่มทะลุแก๊สและมวลชนอิสระทั้งหมด 18 คน ถูกปล่อยตัวแล้ว 10 คน อีก 8 คน ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 3 คน อยู่ในเรือนจำกว่า 200 วัน และถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี  โดยไม่รอลงอาญา 1 คน

จากการรายงานของศูนย์ทนายฯ พบว่าสามารถจัดหมวดหมู่สาเหตุของการคุมขังมวลชนอิสระและกลุ่มทะลุแก๊สเป็น 4 มูลเหตุหลัก ได้แก่ 

  1. เหตุมีวัตถุระเบิดในครอบครอง 3 ราย ถูกจับกุมจากการถูกค้นรถจักรยานยนต์และมีวัตถุระเบิดในครอบครอง โดยถูกคุมขังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี 2 ราย ได้แก่ คทาธร คงเพชร และคดีถึงที่สุดแล้ว 1 ราย คือ ณัฐชนน
  2. เหตุวางเพลิงจากเหตุที่มีรถกระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ 4 ราย ถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงรถยนต์กระบะตำรวจและยังถูกคุมขังในชั้นพิจารณาคดี คือ วัชรพล จตุพล ณัฐพล และพลพล
  3. เหตุคดีปาวัตถุระเบิดหน้าบ้านประยุทธ์ 2 ราย ได้รับการประกันตัวแล้ว 1 ราย คือ ปฏิมา ส่วนพรพจน์ยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี
  4. เหตุจากการเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณดินแดงช่วงเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 9 ราย ได้รับการประกันตัวทั้งหมดในปัจจุบัน คือ ศศลักษณ์ พิชัย ใบบุญ สมชาย อัครพล ธีรวิทย์ หนึ่ง วรวุฒิ และธนรัตน์

เมื่อวิเคราะห์สถานะการถูกคุมขังและการพิพากษาคดีพบว่า ผู้ที่ถูกจับกุมจากสาเหตุเดียวกันจะมีสถานะการถูกคุมขังหรือให้ประกันตัวคล้ายกัน แต่เหตุปาวัตถุระเบิดหน้าบ้านประยุทธ์ กลับมีทั้งผู้ถูกคุมขังถึงปัจจุบันและผู้ที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว

“ข้อกล่าวหามีอัตราโทษร้ายแรงเกรงว่าจะหลบหนี” เหตุหลักไม่ให้ประกันตัวทะลุแก๊สและมวลชนอิสระ

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เหตุผลหลักที่ศาลเพิกถอนคำร้องประกันตัวสำหรับมวลชนกลุ่มนี้คือการเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษร้ายแรง บางกรณีมีผู้คัดค้านการให้ประกันตัว บางรายเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในลักษณะเดียวกัน และเหตุผลสุดท้ายคือผู้ต้องหารับสารภาพในชั้นสอบสวนเนื่องจากการจับกุมส่วนใหญ่เป็นการจับกุมแบบกะทันหัน ทำให้มวลชนเหล่านี้ไม่สามารถติดต่อทนายความได้จึงยอมรับข้อกล่าวหาไปก่อน

สำหรับเงื่อนไขหนึ่งที่ได้รับเมื่อประกันตัว คือการที่พวกเขาต้องติดอุปกรณ์ติดตามตัวผู้ต้องหา  หรือ “EM” (Electronic Monitoring Center) เช่นเดียวกับผู้ต้องหาคดีทางการเมืองอื่นๆ

เทียบกรณีอาวุธโด่งดังแต่ประกันง่าย ทำไมม็อบการเมืองถึงประกันยาก?

คนในสังคมอาจมองว่าเพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทั้งการพกอาวุธหรือทำลายทรัพย์สิน จึงเป็นเรื่องปกติที่กลุ่มทะลุแก๊สถูกคุมขังในเรือนจำ แต่ความจริงแล้วหากยังไม่มีการพิพากษาจนถึงที่สุด นักกิจกรรมเหล่านี้ควรได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวตามหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) ดังกรณีการพกอาวุธของคนมีชื่อเสียงและได้รับการให้ประกันตัว ดังนี้

8 มี.ค. 2559 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า "ทวี ไกรคุปต์" อดีต ส.ส. ราชบุรี ใช้อาวุธปืนยิงสุนัขถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกสุนัขกัดบริเวณขา เมื่อถามหาเจ้าของแล้วไม่มีคนรับเป็นเจ้าของ ทวีจึงเดินไปที่รถยนต์และนำอาวุธปืนมายิงสุนัขจำนวน 6 นัด ในวันที่ 7 มี.ค. 2559 และทวีเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวัดถัดมา โดยตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาทวี 3 ข้อหา คือ ทารุณกรรมสัตว์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ มาตรา 20 ข้อหาพกอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันควร จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทวีไม่ได้ถูกกักขังหรือฝากขังแต่อย่างใด

อีกกรณีเมื่อ 31 ธ.ค. 2560 Workpoint TODAY รายงานเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลขอเข้าตรวจค้นบ้านพักของ “เสก โลโซ” หรือ เสกสรรค์ ศุขพิมาย หลังไม่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา กรณีที่ศิลปินดังไปก่อเหตุชักปืนยิงขึ้นฟ้า 9 นัด และยิงลงพื้นอีก 1 นัด บริเวณวัดแห่งหนึ่งที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 29 ธ.ค. 2560 ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจค้นบ้าน เขายังข่มขู่เจ้าหน้าที่ว่า “ผมมีปืนนะ ใครไขประตูเข้ามา กูยิง” แต่สุดท้ายเสกก็ยอมให้ตำรวจจับกุมตัว โดยผลการตรวจร่างกายพบว่ามีสารเสพติด

ตำรวจแจ้งข้อหาเสก 5 ข้อหา คือ มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันควร เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 และความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่

หลังควบคุมตัวและสอบปากคำ ตำรวจได้นำตัวเสกไปฝากขังเพื่อส่งตัวไปศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และวันที่ 3 ม.ค. 2561 ศาลนครศรีธรรมราชอนุญาตให้ประกันตัวแม้พนักงานสอบสวนจะคัดค้าน โดยทนายความของเสกได้ยื่นคำร้องและวางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบกรณีเสก โลโซ ยิงปืนขึ้นฟ้า และทวี ไกรคุปต์ ยิงสุนัขจนเสียชีวิต กับกรณีคดีของกลุ่มทะลุแก๊สและมวลชนอิสระพบว่า ทั้งสามกรณีมีการแจ้งข้อหาในลักษณะคล้ายกัน คือ มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่

หากมองบนฐานกฎหมาย ย่อมสามารถตั้งคำถามได้ว่า เหตุใดสองกรณีที่มีความผิดเดียวกันจึงได้รับสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมต่างไปจากกลุ่มทะลุแก๊ส  จากการสัมภาษณ์ผู้ต้องหา ทนายความ และนักวิชาการพบว่าทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่าเหตุที่สมาชิกทะลุแก๊สไม่ได้รับการประกันตัวมีทั้งสิ้น 2 เหตุผล คือ ศาลเกรงว่าผู้ต้องหาจะกระทำความผิดซ้ำและศาลเกรงว่าผู้ต้องหาจะทำการหลบหนี

ลูกหิน หรือ อัครพล อดีตผู้ต้องขังจากเหตุการเข้าร่วมการชุมนุมดินแดงให้ข้อมูลว่า ช่วงที่ตนถูกกักขังอยู่ในเรือนจำได้มีโอกาสสอบถามเหตุที่ไม่ได้รับการประกันตัวกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และได้คำตอบ คือ ศาลเกรงว่าหากมีการปล่อยตัวลูกหินและสมาชิกทะลุแก๊สคนอื่น ๆ อาจนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำได้

สอดคล้องกับที่ กิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่าศาลตีความคดีของกลุ่มทะลุแก๊สเป็นคดีความรุนแรงที่มีวัตถุระเบิดครอบครอง จึงวินิจฉัยว่ามีโอกาสที่จำเลยจะกลับมากระทำผิดซ้ำอีก แม้วัตถุระเบิดในคดีนี้จะเป็นพลุและประทัด ไม่ใช่วัตถุระเบิดทางการทหารก็ตาม นอกจากนั้น การใช้คำว่า ‘ครอบครองวัตถุระเบิด’ ทำให้สังคมมองว่าการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สมีความรุนแรงมากกว่าการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง

เมื่อเปรียบเทียบกรณีเสกและทวีที่ได้รับสิทธิในการประกันตัวแต่กลุ่มทะลุแก๊สไม่ได้รับสิทธินั้น กิตติศักดิ์มองว่าคดีที่นำมาเปรียบเทียบเป็นคดีส่วนบุคคลมากกว่า ทั้งเสกและทวีเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วทำให้มีความน่าเชื่อถือมากกว่าสมาชิกทะลุแก๊สที่เป็นบุคคลทั่วไป

พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ มองว่าศาลอาจคิดว่าผู้ต้องหาจะกลับไปสร้างความไม่สงบและความวุ่นวายในที่ชุมนุมสาธารณะได้เนื่องจากมีวัตถุระเบิดไว้ครอบครอง แม้แต่ผู้ที่ได้รับการประกันตัวยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ห้ามเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่ไม่สงบ 

คดีรุนแรง-คดีการเมือง เรื่องเดียวกันหรือไม่?

กิตติศักดิ์ให้ความเห็นว่า หากพิจารณาจากข้อกล่าวหาที่นักกิจกรรมกลุ่มนี้ถูกดำเนินคดี เช่น การพาอาวุธหรือวัตถุระเบิดเข้ามาในพื้นที่เมือง ชุมชนสาธารณะ หรือการทำลายทรัพย์สินทางราชการ คดีของกลุ่มทะลุแก๊สที่เกิดขึ้นบริเวณดินแดงอาจเรียกว่าเป็นคดีความรุนแรงได้ แต่ไม่ใช่คดีความรุนแรงทั่วไปเพราะเป็นคดีความรุนแรงที่มีการเมืองผสมอยู่ด้วย แม้ทะลุแก๊สจะเป็นกลุ่มที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลแต่ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มองกลุ่มการเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือราษฎรเนื่องจากเป็นการชุมนุมนอกกรอบสันติวิธี

ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นักวิชาการด้านสังคมวิทยาการเมือง  เคยถอดบทเรียนการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊สว่า การชุมนุมรูปแบบนี้มีให้เห็นบ่อยครั้งในโลกตะวันตกเปรียบเหมือนการระเบิดขึ้นของปัญหาที่ถูกสะสมไว้และถูกมองข้ามของคนชายขอบทั้งกลุ่มแรงงาน ชาติพันธุ์ หรือคนผิวดำ คล้ายกับการชุมนุมบริเวณดินแดงซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจากชั้นรากหญ้า ต่างจากม็อบของกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือราษฎรที่มีแกนนำเป็นชนชั้นกลางของสังคม ความสนใจหรือความน่าเชื่อถือที่คนในสังคมมีให้กับม็อบของแต่ละกลุ่มจึงต่างกันมากแม้มีอุดมการณ์เดียวกัน คนส่วนใหญ่ก็มองว่าทะลุแก๊สเป็นกลุ่มคนหัวรุนแรงและคิดว่าคดีของกลุ่มทะลุแก๊สเป็นคดีความรุนแรงมากกว่าคดีการเมือง

กนกรัตน์เสริมว่าข้อเท็จจริง คือ กลุ่มทะลุแก๊สเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล ดังนั้น การดำเนินคดีดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นเพียงคดีความรุนแรงทั่วไป แต่มีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้อาจเกิดการตีความของศาลที่กว้างกว่าเดิมได้

ตกงาน - การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเงื่อนไขการประกันตัวและการใส่ EM

อัครพลถูกคุมขังเป็นเวลา 105 วัน ร่วมกับผู้ต้องขังในคดีเดียวกันอีก 7 คน เล่าว่าพวกเขายังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวของศาล เช่น ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจเกิดความรุนแรง ทำให้ตนเองไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมบ่อยเท่าเมื่อก่อน ตอนนี้ลดบทบาทเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ เท่าที่ทำได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขศาล

การใส่ EM นั้นส่งผลกระทบทั้งด้านความรู้สึกและการใช้ชีวิตประจำวัน เขารู้สึกว่า EM เป็นสิ่งแปลกปลอมบนร่างกาย และไม่สบายใจเมื่อต้องใส่กางเกงขาสั้นทั้งๆ ที่ปกติแล้วชอบใส่กางเกงขาสั้นมากๆ นอกจากนั้น เงื่อนไขการจำกัดเวลาห้ามออกจากที่พักอาศัยในเวลาที่กำหนดทำให้หางานประจำยากขึ้น ทุกวันนี้จึงทำได้เพียงรับจ้างรายวันแทน

‘คนเท่ากัน’ เท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย

ผู้ให้สัมภาษณ์แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ต่างกัน แต่ละคนมองเห็นถึงปัญหาและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

กนกรัตน์ระบุว่า ผู้ต้องหาส่วนใหญ่จากคดีชุมนุมบริเวณดินแดงส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน เมื่อโดนจับมักถูกยึดอุปกรณ์โทรศัพท์หรือยานพาหนะซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการหารายได้ไปด้วย เช่น การเป็นไรเดอร์ แม้ได้รับการปล่อยตัวแต่การถูกกำกับดูแลโดยสถานพินิจในเยาวชนหรือการติด EM ที่ข้อเท้า ทำให้หลายคนรู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัวเพราะเหมือนถูกรัฐจับตามองตลอดเวลา นอกจากนั้น อาจารย์จากรั้วจุฬาฯ ยังมองว่าสถานภาพทางสังคมและครอบครัว เช่น การไม่มีผู้ปกครอง ก็มีผลต่อการพิจารณาให้ประกันตัวของศาลด้วย เพราะศาลมองว่าไม่มีคนกำกับดูแล หากปล่อยตัวไปก็มีโอกาสกลับมากระทำผิดซ้ำได้

กนกรัตน์เชื่อว่ารัฐต้องรู้จักปรับตัวและทำความเข้าใจกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊ส พร้อมแก้ปัญหาทางโครงสร้าง เพราะหากไม่ปรับต้องเจอการชุมนุมแบบนี้ไปเรื่อยๆ

อัครพลมองว่า กระบวนการยุติธรรมมันไม่มีความยุติธรรมตั้งแต่แรก หากนักกิจกรรมหรือใครก็ตามที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมนั้น อยากให้ใช้ชีวิตปกติไม่ต้องกังวลหรือทำอะไรเลย คิดซะว่าเป็นความต้องการของภาครัฐที่ต้องการให้คนเหล่านี้ไปนอนคุก

ด้านพัชร์ให้ความเห็นว่า การชุมนุมที่มีการใช้อาวุธหรือความรุนแรงรัฐจะมองว่าผิดทันทีและอาจมีผู้ไม่เกี่ยวข้องอย่างประชาชนทั่วไปได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ตำรวจควรใช้กำลังเท่าที่จำเป็น ส่วนที่ศาลกล่าวว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ เปรียบเหมือนการไม่ให้เหตุผล และทำให้ทนายยื่นอุทธรณ์ในศาลชั้นถัดไปยากกว่าเดิมเนื่องจากไม่รู้ว่าต้องแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องที่ตนเขียนต่อศาลอย่างไร

สอดคล้องกับที่กิตติศักดิ์ระบุว่าตอนนี้มีกลุ่มทะลุแก๊สที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำเกือบปีแล้ว แม้จำเลยยอมรับทุกเงื่อนไขที่ศาลกำหนดแต่ทุกครั้งที่ยื่นคำร้องขอประกันตัวศาลก็ตอบกลับเพียงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และการที่กลุ่มทะลุแก๊สไม่ได้รับการประกันตัวทำให้โอกาสหรือความเป็นส่วนตัวที่ทนายจะพูดคุยกับลูกความหรือหาหลักฐานเพิ่มเติมยากขึ้น โดยเฉพาะการขอหลักฐานอย่างกล้องวงจรปิดซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่ของรัฐ

“ศาลต้องปฏิบัติกับผู้ต้องหาคดีทางการเมืองให้เท่าเทียมกับคดีอื่น ๆ และผู้ต้องหาต้องได้รับสิทธิการประกันตัว” กิตติศักดิ์กล่าว

เกี่ยวกับผู้เขียน

เนื้อหาล่าสุด