ชวนทำความเข้าใจปรากฎการณ์การการฟ้องปิดปาก หรือคดีรูปแบบ SLAPP จากสังคมโลกสู่บริบทไทย ผ่านมุมมองและงานศึกษาวิจัย ประเด็นมาตรการป้องกันการฟ้อง SLAPP ในบริบทธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ผลการศึกษาบ่งชี้ไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่ใช้รูปแบบการดำเนินคดี SLAPP สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และหากมองลึกลงไปแต่ละประเทศพบว่าไทยมีตัวเลขการฟ้องคดีรูปแบบ SLAPP สูงที่สุด รองลงมาคือ ฮอนดูรัส เปรู และ สหรัฐอเมริกา
ข้อมูลจากรายงายวิจัยตั้งแต่ปี 2540 เดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า การฟ้อง SLAPP มักมุ่งกระทำต่อชาวบ้านมากที่สุด โดย คิดเป็น 78% เป้าหมายถัดมาได้แก่กลุ่มนักกิจกรรม ประมาณ 10% รวมทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการ
หนี่งในข้อเสนอแนะสำคัญที่เน้นย้ำโดย เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และในฐานะนักวิชาการอิสระที่ศึกษาประเด็นนี้ คือการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา รวมทั้งสร้างกระบวนการป้องกัน ได้แก่การเปิดหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันกันทุกฝ่าย และหากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจสื่อมวลชนต้องเสนอข่าวเพื่อสร้างการรับรู้จนนำไปสู่มาตรการค่ำบาตราจากทุกภาคส่วนต่อบริษัทที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือฟ้องปิดปาก
เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวคู่มือ ‘หนึ่งความฝัน’ กับการถูกฟ้องปิดปาก โดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ CCFD-Terre Solidaire ซึ่งเป็นการรวบรวมเนื้อหาจากเวทีเสวนา 3 เวที ในปี 2564 ถึง 2565 ในประเด็นการดำเนินนคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (SLAPP : Strategic Lawsuit Against Public Participation) สื่อมวลชนและสื่อพลเมืองในประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือหากจะเรียกให้คุ้นหูก็คือ การฟ้องปิดปากสื่อ หรือ การฟ้องกลั่นแกล้งสื่อนั้นเอง
จากการสัมภาษณ์ เสาวณีย์ ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญต่อการช่วยพัฒนาและให้ข้อเสนอแนะต่อเนื้อหาคู่มือ‘หนึ่งความฝัน’ กับการถูกฟ้องปิดปาก เพิ่มเติม เธอเล่าถึงข้อมูลงานวิจัยบางส่วนที่กำลังดำเนินการวิจัยและเตรียมจะเผยแพร่ประมาณต้นปี พ.ศ.2566 ในประเด็นกฎหมายและมาตรการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในบริบทธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
โดยเน้นย้ำว่าในงานศึกษาชิ้นนี้คณะผู้ศึกษาวิจัยได้นิยามความหมายการฟ้องคดี SLAPP หมายถึง “การดำเนินคดีเพื่อคุกคามหรือขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่ถูกรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นประโยชน์สาธารณะ”
ยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา ข้อเสนอกฎหมาย Anti-SLAPP
ภาพรวมของคดี SLAPP ในประเทศไทย จากที่ เสาวณีย์ ทำการรวบรวมทั้งสิ้น 109 คดีนั้น พบว่าเป็นการดำเนินคดีอาญาจำนวน 81 คดี และเป็นการดำเนินคดีแพ่ง 28 คดี ส่วนใหญ่จะใช้กฎหมายการหมิ่นประมาททางอาญาเป็นเครื่องมือ โดยผลจากการศึกษามีข้อเสนอส่วนหนึ่งอยากเน้นย้ำให้ประเทศไทยยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาเพื่อดำเนินคดีอันมีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นแกล้งหรือแกล้งฟ้อง ซึ่งในหลายประเทศได้ยกเลิกความผิดทางอาญาของการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ให้เหลือเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่งเท่านั้น การใช้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมาย มาตรา 326 หมิ่นประมาท และมาตรา 328 หรือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ต่างถูกนำมาใช้ดำเนินคดีต่อบุคคลเป้าหมาย โดยเริ่มต้นจากกระบวนการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งถือเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทาง ต่อมาหากคดีมีมูล พนักงานสอบสวนก็จะส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการ และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลต่อไป
“การฟ้องเป็นคดีอาญา เช่นความผิดฐานหมิ่นประมาท ค่อนข้างสะดวกและมีต้นทุนต่ำ เพราะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมอาญาจะเข้ามาช่วยดำเนินคดีแทนผู้เสียหาย ซึ่งต่างจากกรณีการดำเนินคดีทางแพ่ง นอกจากนี้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาก็มีบทกำหนดโทษจำคุกด้วย เอื้อต่อการสร้างสภาวะความกดดันและความกลัวให้กับจำเลย ยกตัวอย่าง กรณี ชาวบ้านออกมาบอกว่าเรียกร้องและต่อต้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยขึ้นข้อความว่า “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” เพราะเหมืองก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรและสุขภาพของคนในชุมชน จากเหตุการณ์ดังกล่าวบริษัทสามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญ เป็นเครื่องมือในการฟ้องชาวบ้านได้ ภายใต้มูลเหตุ “บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียงอันกระทบต่อการประกอบกิจการ” ผลคือเมื่อการกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา คดีความจึงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อกันพิสูจน์กันในชั้นศาล” ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าว
จากตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นความยุ่งยากในกระบวนการอันจะตกอยู่กับจำเลยหรือคนที่ถูกฟ้อง สำหรับกรณีผู้ฟ้อง หรือ ภาคธุรกิจ จะใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ และศาล เป็นเครื่องมือดำเนินคดีแทน ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรทั้งเงินและเวลาเป็นจำนวนมากและนาน ยกตัวอย่างกรณีศึกษา อานดี้ ฮอลล์ นักกิจกรรมชาวอังกฤษ ด้านสิทธิแรงงานที่ถูกบริษัทผลไม้กระป๋องฟ้องคดีในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการฟ้องคดี SLAPP โดยชัดเจน เพราะท้ายที่สุดผลของคดีศาลจะยกฟ้อง แต่ระหว่างทางของการต่อสู้คดี อานดี้ ฮอลล์ ต้องพบคือสภาวะความเครียดและความกังวลตลอดระยะเวลา 8 ปี รวมถึงต้องประสบอุปสรรคในการเดินทางเข้าออกประเทศ พร้อมทั้งมีภาระทางการเงินกว่า 7 ล้านบาทสำหรับใช้ในการต่อสู้คดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพชัดถึงความไม่คุ้มค่าด้านนิติเศรษฐศาสตร์
การแก้ปัญหาฟ้องปิดปากจากภาคธุรกิจนอกจากใช้กฎหมาย ต้องอาศัยสื่อกดดันจนเกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
เสาวณีย์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่เหมาะสมเพื่อจัดการกับคดี SLAPP คือต้องทำให้คดี SLAPP ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่แรก หรือเมื่อศาลเห็นว่า คดีดังกล่าวมีลักษณะ SLAPP ศาลจำต้องมีกระบวนการพิจารณาพิเศษเพื่อให้คดีหลุดออกไปจากกระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยังต้องกำหนดเงื่อนไขต่อผู้ฟ้องคดี เช่น ห้ามฟ้องซ้ำ รวมทั้งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษต่อผู้ฟ้องคดีปิยดปาก สำหรับในแง่ของการออกกกฎหมายหรือมาตรการป้องกันการฟ้อง SLAPP อย่างเดียวอาจจะไม่ทันท่วงที เพราะฉะนั้นจึงควรใช้แนวทางอื่นควบคู่กัน เช่น การกดดันเชิงนโยบายหรือกระบวนการมาตรการทางการค้าเพื่อลงโทษ (trade sanctions) ทั้งนี้การกดดันจากประเทศคู่ค้าจะส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจมหาศาลต่อตัวบริษัทที่ฟ้อง SLAPP
“สำหรับประเทศไทยไม่ใช่แค่ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้อง SLAPP ความผิดฐานบุกรุก ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ รวมทั้งข้อหาข้อหาลักทรัพย์ ต่างถูกนำมาใช้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาในกระบวนการยุติธรรม ยกตัวอย่างกรณีที่นักข่าวบุกรุกเข้าไปในพื้นที่บริษัทเหมืองเพื่อเข้าไปเก็บข้อมูลเพื่อหาพยานหลักฐานประกอบ ประเด็นคือมีการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่จริง เพราะฉะนั้นข้อพิพาทจึงต้องสู่กระบวนการยุติธรรม” เสาวณีย์ กล่าว
นอกจากนี้ในส่วนของภาคประชาชนควรจะต้องศึกษาข้อมูลของข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ก่อนที่จะนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลออกสู่สาธารณะหรือบุคคลที่สาม ในส่วนของภาคธุรกิจเองก็ควรเปิดเผยหรือให้ข้อมูลต่อสาธารนะด้วยความเป็นธรรมและจริงใจเปิดเผยข้อมูลอันเป็นที่น่าสงสัย ปรึกษาด้านกฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวเน้นย้ำว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกันระหว่างคู่กรณี ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมก่อนที่จะไปสู่กระบวนการยุติธรรม ผ่านหน่วยงานกลางที่ได้รับความไว้วางใจจากทุกภาคส่วนเพื่อเข้ามาระงับข้อพิพาทเบื้องต้นก่อน ถือเป็นวิธีการที่อยากสร้างให้เกิดขึ้นมากที่สุด
มีกฎหมายป้องกัน แต่ไม่ถูกนำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติ
“เราไม่ได้บอกว่าการพูดคุยคือการยอมแพ้ แต่เราจะบอกว่าในเมื่อปัจจุบันกฎหมาย การป้องกันฟ้องคดีปิดปากมันยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล ผลคือ มันมีแต่ความบอบช้ำถ้าคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นก่อนที่มาตรการกฎหมายจะพัฒนาไปสู่ถึงขั้นที่ปกป้องเราได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงอยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเพื่อทำให้ข้อขัดแย้งมันคลี่คลายจบลงไปแต่ต้น” เสาวณีย์ กล่าว พร้อมเสนอว่า การพูดถึงปัญหากรณีการฟ้อง SLAPP แม้ว่าประเทศจะอ้างว่ามีมาตรการที่เข้าข่ายป้องกันได้ เช่น มาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ประกอบระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ระบุว่า พนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ แต่คำว่า “คดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” ส่วนใหญ่ในทางปฎิบัติจะปรับใช้กับกรณี เกี่ยวกับ ครอบครัว ความผิดเกี่ยวกับเพศ เป็นต้น และแม้ว่าประเทศไทยจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 หากศาลเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะกลั่นแกล้ง ศาลมีอำนาจยกฟ้องคดีรูปแบบดังกล่าวได้ แต่ในทางปฏิบัติพบว่า มาตราดังกล่าวไม่ถูกนำมาปรับใช้โดยศาล โดยหนึ่งในเหตุผล อาจพิเคราะห์ได้ว่ามาตราดังกล่าวให้อำนาจศาลใช้กว้างขวางเกินไปและยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
ละตินอเมริกา เอเชีย-แปซิฟิก เสี่ยงสูงที่สุดในโลก เป้าหมายหลักกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกนั้นประชาชนละตินอเมริกา เอเชียและแปซิฟิก เสี่ยงถูกฟ้อง SLAPP สูงที่สุดในโลก เป้าหมายหลักกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เสาวณีย์ กล่าวว่า จากการทบทวนข้อมูลสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจจากรายงานขององค์กร Business & Human Rights Resource Center (BHRRC) เรื่อง“Strategic Lawsuits Against Public Participation: Southeast Asia Cases & Recommendations for Governments, Business, & Civil Society” พ.ศ. 2563 และเรื่อง “SLAPPed but not Silenced: Defending Human Rights in the Face of Legal Risks” พ.ศ. 2564 พบว่า SLAPPเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้กระทั่งก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาด Covid-19 ทั้งนี้หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญของรายงานระบุว่าการฟ้องคดี SLAPP เกิดขึ้นมากที่สุดในประเทศแถบละตินอเมริกา ตามด้วยประเทศแถบเอเชียและภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มักมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกฟ้องคดี SLAPP ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้นำชุมชนหรือนักกิจกรรมที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังชี้ให้เห็นจำนวนนักป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามทั้งทางกายภาพและโดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือจำนวนมากกว่า 3,100 กรณี ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวพบว่าเป็นการดำเนินคดีแบบ SLAPP จำนวนกว่า 355 คดี ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 จากข้อห่วงกังวลที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลงมติ โดยประกาศว่า การเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน (Clean, Heathy and Sustainable Environment) เป็นสิทธิมนุษยชนสากล การประกาศดังกล่าวเพื่อความหวังต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นและต้องการช่วยหนุนเสริมให้ประชาชนและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมีอาวุธเพื่อใช้ในการต่อสู้กับนโยบายหรือโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
“การฟ้อง SLAPP ไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดในสังคมโลก ส่งผลให้หลายประเทศที่มีการฟ้องร้องคดีแบบนี้ได้พยายามบัญญัติกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากขึ้นมา เช่น ประเทศสหรัฐอมริกามี 32 รัฐ ที่มีกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก” ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวพร้อมระบุว่า งานศึกษาชี้ไทยปี 57 กลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ไล่ฟ้องปิดปากชาวบ้าน นักข่าว สูงสุดจากการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ผศ.เสาวณีย์ ได้กล่าวถึงภาพรวมสถิติคดี SLAPP ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 มีคดีที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคดี SLAPP ที่ดำเนินคดีโดยภาคธุรกิจตามคำนิยามก่อนหน้านี้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 109 คดี โดยมีผู้ถูกฟ้องมากกว่า 400 คน และกว่า 10 คดีเป็นการดำเนินคดีต่อบุคคลเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีผู้ถูกฟ้องคดีมากกว่า 10 คน เช่น บริษัทเหมืองแร่แห่งหนึ่งฟ้องชาวบ้านซำม่วง ตำบลผาสามยอด จำนวน 33 คน ในข้อหาละเมิดทางแพ่งจากการคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ หรือบริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำตาลแห่งหนึ่งฟ้องกลุ่มรักษ์น้ำอูน จำนวน 21 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทจากการร้องเรียนผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินการของบริษัท โดยในส่วน 109 คดี ถูกฟ้องโดยภาคธุรกิจ คำว่าถูกฟ้องในที่นี้คือถูกเอกชนฟ้องซี่งเอกชนในที่นี้รวมถึงภาครัฐวิสาหกิจฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย
ลักษณะเฉพาะของไทยที่สถิติสูง เพราะบริษัทเดียวสามารถฟ้องคนเป็นจำนวนมากได้
สำหรับหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดจำนวนการฟ้อง SLAPP สูงนั้น เสาวณีย์ กล่าวว่าเกิดจากการกระทำของซ้ำๆ และต่อเนื่องของภาคธุรกิจเพียงไม่กี่แห่ง เช่น บริษัทเหมืองแร่ บริษัทฟาร์มไก่ ไล่ฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นคดีความจำนวนมากทำให้คดีสูงขึ้น
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ตั้งข้อสังเกตว่าการฟ้องคดี SLAPP ในประเทศไทยมี มีลักษณะเฉพาะ คือ บริษัทบริษัทเดียวสามารถฟ้องคนเป็นจำนวนมากได้ มันทำให้สถิติของการฟ้องคดีถึงเยอะ ซึ่งมันต่างจากที่อื่นเขามีข้อพิพาทใหม่ คู่กรณีใหม่ จากข้อมูลพบว่าบางกลุ่มบางชุมชนถูกฟ้องจากบริษัทเดียวกันจำนวนหลายคดี ยกตัวอย่างกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ถูกบริษัทเหมืองแร่ทองคำฟ้องคดีมากกว่า 20 คดี เป็นต้น
ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ : รายงาน
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges