กวีรพัชร์ เบ็ญจรูญ : เรื่อง/ภาพ

 

Louder – เขื่อนปากมูลยังเป็นหัวข้อถกเถียงหลักของคนอุบลราชธานี หลังจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2565 ที่ผ่านมา นอกจากปริมาณน้ำที่มาจากน้ำท่วมทั่วอีสานแล้ว ยังมีข้อสังเกตเรื่องระดับน้ำโขงในช่วงน้ำท่วมใหญ่ว่าต่ำกว่าระดับน้ำมูล แต่ความล่าช้าของการเปิดประตูเขื่อนปากมูลก็ส่งผลต่อการระบายน้ำให้ท่วมอุบลราชธานีนานกว่าทุกปี 

“ทุบทิ้งเลยค่ะ” 

เสียงความโกรธแค้นจาก ‘สมปอง เวียงจันทร์’ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจนผู้ที่คัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล นอกจากสมปองแล้วยังมีอีกหลาย ๆ ความคิดเห็นที่มองว่าการมีอยู่ของเขื่อนปากมูลมันเป็นปัญหานอกจากชาวบ้านชุมชนแม่น้ำมูลในแถวนั้นนักวิชาการที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลก็ยังมองว่าการสร้างเขื่อนปากมูลมันส่งผลเสียมากกว่าผลดี บ้างก็บอกว่าเป็นการสร้างเขื่อนที่ปิดทางผ่านน้ำจนนำไปสู่การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2545, 2562 และ 2565 หรือจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนบริเวณนั้นต้องสูญเสียทั้งอาชีพประมง ,วิถีชีวิตและที่อยู่อาศัยของตนเองไปอย่างถาวร จนมันเกิดคำถามว่าจริง ๆ แล้วการสร้างเขื่อนมันจำเป็นหรือเปล่า


สมปอง เวียงจันทร์

สำรวจเขื่อนทั้งสายน้ำมูล

ก่อนที่จะไปดูในเรื่องราวของเขื่อนปากมูลต่อจากนี้ เรามาดูกันว่าก่อนว่านอกจากเขื่อนปากมูลแล้ว มีเขื่อนอะไรบ้างที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำมูล เริ่มจากต้นน้ำที่จังหวัดนครราชสีมาไปยังปลายน้ำหรือปากน้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี 

  1. เขื่อนมูลบน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
  2. เขื่อนลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
  3. เขื่อนพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
  4. เขื่อนราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
  5. เขื่อนหัวนา อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
  6. เขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
  7. เขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ซึ่งพอมาดูโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าในตลอดทั้งสายแม่น้ำมูลมีเขื่อนอยู่ถึง 7 แห่ง แต่การสร้างเขื่อนทั้ง 7 แห่งมันช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ ?

ทำไมต้องสร้างเขื่อนปากมูล

“เมื่อ 30 – 40 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยนั้นเขาบอกว่า พลังงานไฟฟ้าในภาคอีสานมีน้อยมาก มีไม่ถึง 200 เมกะวัตต์ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเป็นช่วงหลังสงครามเย็นมันจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพื้นที่ในภาคอีสาน เขื่อนปากมูลก็เลยถูกนำเสนอโดย ครม.เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการพัฒนาอีสานหลังสงครามเย็นก็เลยเกิดเขื่อนปากมูลขึ้นมา” กนกวรรณ มโนรมย์ รองศาสตราจารย์จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนักวิชาการผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลเมื่อพ.ศ.2545 กล่าวถึงความเป็นมาในการสร้างเขื่อนปากมูล

“ในตอนนั้นไม่มีกฎหมายการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มีแค่การศึกษาความเป็นไปได้ จึงทำให้การประเมินความเป็นไปได้ที่จะสร้างเขื่อนมันละเลยมิติอื่น ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประชาชน อาชีพของชาวบ้านที่สูญเสียไปอย่างถาวรจากการสร้างเขื่อน ซึ่งตอนนั้นไม่มีการประเมินในตรงนี้ หรือมีแต่น้อยมาก หรือไม่ได้ให้ความสำคัญ มันก็เลยทำให้เกิดผลกระทบที่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน”รศ.กนกวรรณกล่าว


กนกวรรณ มโนรมย์

นิกร วีสเพ็ญ ประธานสมาคมสิทธิและเสรีภาพประชาชน กล่าวว่า ตอนนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คิดว่ารูปแบบการสร้างเขื่อนแบบปกติที่เราจะเห็นการสร้างเขื่อนที่อยู่เหนือเมืองหรือมีภูเขากั้นอยู่บนหลังเขา ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนศรีนครินทร์หรือเขื่อนอื่น ๆ ส่วนมากจะอยู่เหนือเมืองทั้งหมด แต่เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนใหม่ซึ่ง กฟผ.ได้โฆษณาว่าเป็นเขื่อนที่ไม่ต้องสร้างเหนือเมือง แต่ใช้ระบบน้ำไหลผ่าน แต่จริง ๆ แล้วถ้าเราไปดูรูปแบบการก่อสร้างก็คือจะก่อสร้างสิ่งปิดกั้น ตัวสันเขื่อนที่ขวางลำน้ำทั้งหมด นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมน้ำถึงท่วมเมืองอุบล เพราะว่าตัวเขื่อนนั้นสร้างอยู่ใต้เมือง มีลักษณะเป็นทวาร เพราะฉะนั้นการควบคุมน้ำที่อยู่เหนือเมืองทั้งหมดโดยเฉพาะในตัวเมืองอุบลหรือเมืองอื่น ๆ ที่อยู่เหนือเมืองทั้งหมดจะยากมาก และตอนนั้นที่ทางกฟผ.มาโฆษณาไว้เมื่อตอนก่อนจะสร้างเขื่อนว่า จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้ทั่วทั้งจังหวัดอุบลราชธานีจะได้ใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล


นิกร วีสเพ็ญ

เขื่อนกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม

“ในส่วนของการแก้ปัญหาน้ำท่วม ผมยังไม่เห็นว่ามันจะแก้ปัญหาได้ เห็นได้ชัด ๆ เลยจากน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2545, 2562, 2565 ก็ยังมองไม่เห็นว่ามันจะแก้ปัญหาอย่างไร” นิกรกล่าว ในเรื่องของเขื่อนกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในตอนที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมามันก็ชัดเจนไปแล้วว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมเลย

ด้าน รศ.กนกวรรณได้กล่าวถึงการสร้างเขื่อนกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกว่า “การสร้างเขื่อนมันไม่ใช่คำตอบ แต่มันคือข้ออ้างที่บอกว่าเขื่อนสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ เนื่องจากว่าพอน้ำมากเขื่อนก็จะกักน้ำไว้ แต่อย่าลืมไปว่าปริมาณน้ำฝนมันคาดการณ์ได้ยากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำที่สูงขึ้น ฝนตกบ่อยขึ้นและมันยาวนาน น้ำในอ่างเก็บน้ำมันไม่มีทางรับได้อยู่แล้ว มันก็ต้องระบายสังเกตได้จากเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนาที่ระบายน้ำมาก่อนที่จะท่วมอุบลราชธานีด้วยซ้ำ”

“มันไม่ใช่ว่ามีเขื่อนแล้วจะป้องกันน้ำท่วมได้เสมอไป แต่ถ้าปริมาณน้ำที่เพียงพอตามที่คำนวณเอาไว้มันก็อาจจะพอ แต่ในความเป็นจริงการคาดการณ์ผลกระทบน้ำท่วมหรืออะไรพวกนี้ ระหว่างช่วงก่อนที่จะสร้างเขื่อนหรือฝาย มันมีเพียงคาดการณ์เท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบันมันไม่ถูกต้องเสมอไป มันมีการผิดพลาดได้ตลอดมันถึงเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ต่าง ๆ” รศ.กนกวรรณกล่าว

2565 ระดับน้ำโขงต่ำ - แต่น้ำมูลท่วมขัง

“ความสัมพันธ์กันของระดับน้ำมูลและโขงนั้น มีส่วนต่อระดับน้ำท่วมอยู่ เพราะถ้าน้ำโขงสูงน้ำมูลก็ไหลลงไม่ได้ มันก็เกิดการชะลออย่างปี 2562 ที่น้ำโขงสูงน้ำมูลไหลไปไม่ได้ แต่พอมาปี 2565 น้ำโขงเกิดมีระดับต่ำกว่าแม่น้ำมูล จนเกิดคำถามเกี่ยวกับการเปิดเขื่อนปากมูลมากขึ้นว่าแม่น้ำโขงมีระดับที่ต่ำกว่าแม่น้ำมูลแต่ทำไมน้ำถึงท่วมขังพื้นที่เหนือเขื่อนปากมูลนานกว่าทุกปี ดังนั้นปัจจัยถึงเรื่องของการขวางทางน้ำเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลจึงถูกนำขึ้นมาพิจารณาว่ามันมีส่วนหรือไม่” ธวัช มณีผ่อง อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ผู้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโครงการศูนย์น้ำมิตรที่ช่วยเหลือน้ำท่วมในปี พ.ศ.2562 และ 2565 กล่าวถึงระดับของแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลและปัจจัยในเรื่องของเขื่อนปากมูลที่ขวางทางน้ำ 


ธวัช มณีผ่อง

รศ.กนกวรรณได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปี พ.ศ.2565 น้ำโขงไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่น้ำส่วนมากมาจากแม่น้ำต่าง ๆ ในภาคอีสานเองมีปริมาณมาก แล้วไหลมารวมที่อุบลราชธานีที่เดียวแต่ความต่างระดับของน้ำโขงและน้ำมูลก็ส่งผลต่อน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

เสนอทุบทิ้ง – เปิดเขื่อน 

“ทุบทิ้งเลยค่ะ เพราะถ้าเดี๋ยวนี้หลาย ๆ คนบอกว่าถ้าเปิดประตูเขื่อนทุกบานทำให้ลดความรุนแรงจากน้ำท่วม แต่อย่าลืมว่ากว่าน้ำจะไหลมาถึงประตูแปดบาน มันก็ต้านน้ำไว้หลายตารางกิโลเมตร”สมปอง เวียงจันทร์กล่าวถึงว่าถ้า กฟผ.เปิดประตูเขื่อนไว้ทุกบานเร็วกว่านี้จะช่วยลดความรุนแรงของน้ำท่วมได้ แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาขวางการไหลของน้ำที่กว่าจะไหลมาที่ปากเขื่อนมันก็ไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงของน้ำท่วมอยู่

รศ.กนกวรรณกล่าวว่า “ขอไม่ใช่คำว่าทุบเขื่อน แต่จะเปลี่ยนเป็นไม่ใช้เขื่อนดีกว่า ไม่ทุบทิ้งก็คือเปิดประตูเขื่อนตามปกติ เพราะดิฉันเคยทำงานวิจัยเรื่องการเปิดประตูเขื่อนโดยปกติ มันก็ช่วยทำให้ระบบนิเวศมันกลับมาพอสมควร ซึ่งเราก็เคยเสนอไปว่า ควรจะเปิดประตูเขื่อนปากมูลอย่างน้อย 5 ปีหรือตลอดไปแล้วก็ประเมินทุก ๆ 5 ปีคิดว่าการเปิดประตูเขื่อนไว้ตลอดมันจะเป็นประโยชน์ แล้วก็ถ้าจะต้องการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเมืองคุณก็อาจจะต้องสร้างแหล่งน้ำในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เขื่อนปากมูล”


เขื่อนปากมูล